ศูนย์ชีวาภิบาล

Cheewabhibaln Palliative Care Center

บริบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตจนวาระสุดท้าย

“ชีวาภิบาล” เป็นการสมาสคำสองคำ คือ “ชีวา” หรือชีวิต กับ “อภิบาล” คือ การบำรุง ดูแลอย่างรอบด้าน เมื่อรวมกันจึงเป็นคำว่า “ชีวาภิบาล” ซึ่งหมายถึง การบำรุงดูแลชีวิต ดังนั้น ศูนย์ชีวาภิบาล จึงเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลชีวิตของผู้ป่วย ตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกอบด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล
นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร)

โดยมีบทบาทเป็นทีมเสริมจากทีมแพทย์และพยาบาลหลัก เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาด ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยและให้การดูแลต่อเนื่องตลอดการรักษา จนเสียชีวิต รวมถึงการติดตามดูแลหลังสูญเสีย เน้นการทำงานแบบองค์รวมให้ได้รับการตอบสนองครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านจิตวิญญาณ (Spiritual) เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ศูนย์ชีวาภิบาล ยังมีทรัพยากรเครือข่ายอาสาสมัครเป็นแหล่งเติมเต็มความต้องการในสิ่งที่ทีมรักษาทำไม่ได้ เช่น การเยี่ยมเยียนแบบเพื่อน 

นอกเหนือจากบทบาทดังกล่าวแล้ว ศูนย์ชีวาภิบาลยังทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยการจัดการเรียน การสอน กิจกรรมวิชาการ และการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

การดูแลแบบประคับประคอง (PALLIATIVE CARE) หมายถึง การดูแลผู้ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาด ให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการจัดการอาการทางกายที่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายต่าง ๆ เช่น อาการปวด หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น รวมถึงการให้การดูแลทางด้านจิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ มีการวางแผนการดูแลล่วงหน้า และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต 

ผู้ป่วยระยะท้ายที่มีความต้องการการดูแลแบบประคับประคองนั้น หมายรวมถึง “ระยะท้ายของโรคหรือการรักษา” และ “ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต” โดยทั่วไป คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด อยู่ในภาวะทรุดลงเรื่อย ๆ ก่อนเสียชีวิต และคาดการณ์ว่าจะเสียชีวิตภายในไม่เกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง โรคติดเชื้อบางชนิด
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบหายใจ และ โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อระยะที่ซับซ้อน ทั้งนี้รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะโรคเฉียบพลันที่คุกคามชีวิต (life threatening illness)  เช่น ภาวะช็อคจากการติดเชื้อ หรือการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ

ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติข้อมูลการส่งปรึกษาศูนย์ชีวาภิบาล โดยเฉพาะ
มีผู้ป่วยที่ทางหน่วยงานให้การดูแลประมาณ 500 – 600 รายต่อปี 

เจตจำนง

ศูนย์ที่เป็นต้นแบบในการประสานการบริบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตจนวาระสุดท้าย ครอบครัวยอมรับและปรับตัวได้

ภาระหน้าที่

  1. สร้างต้นแบบของการให้บริการการดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวมโดยทีมสหสาขา พร้อมกับผลิตผลงานวิชาการและวิจัย
  2. สนับสนุน ฝึกฝนและให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาเพื่อให้สามารถนำหลักการพื้นฐานของการดูแลแบบประคับประคองไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว

ผลงานและความภาคภูมิใจของศูนย์

สามารถแบ่งงานได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้

ด้านวิชาการ

  1. การวิจัย โครงการศึกษาในประเด็นความต้องการการรับรู้ความจริงของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล ผลการวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงความคิดและแนวทางการแจ้งข่าวร้ายในโรงพยาบาล
  2. ร่วมเขียนหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ (กสพท.)
  3. มี Professor จากต่างประเทศและบุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศเข้ามาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในงานด้าน Palliative care และ End of life care

ด้านบริการ

  1. สร้างโปรแกรมปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ของโรงพยาบาล ชื่อ “IPDADE 27 บันทึกข้อมูล Consult ศูนย์ชีวาภิบาล” เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 
  2. เป็นแกนประสานให้เกิดทีมการทำงานเพื่อดูแลผู้ป่วยโดยให้หลัก patient and family centered care ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ภาควิชาต่าง ๆ
    ฝ่ายการพยาบาล บุคลากรด้านวิสัญญี เวชศาสตร์ฟื้นฟู เภสัชศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว ทีมพยาบาล Comfort Care หน่วย Home Health Care
    นักสังคมสงเคราะห์ อาสากาชาด อาสาข้างเตียง และจิตอาสาชีวาภิบาล  เป็นต้น

ด้านเครือข่ายอาสาสมัคร

  1. ปี พ.ศ. 2549 ได้จัดโครงการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครข้างเตียงผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยจัดอบรมนิสิตแพทย์และนักศึกษาพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยรื้อรัง มุ่งเน้นการเป็นเพื่อนข้างเตียงโดยใช้เทคนิคการฟังอย่างลึกซึ้ง จากสองปีแรกที่ทางศูนย์ต้องประชาสัมพันธ์โครงการด้วยตัวเอง มีการบอกต่อและได้รับความสนใจจากนิสิตและนักศึกษาเป็นอย่างดีจนมีการตั้งเป็นชมรมและดำเนินการด้วยตัวเอง
  2. ร่วมอบรมและจัดประชุมวิชาการกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จัดทำหนังสือสรุปการประชุมทั้งสิ้น 6 เล่ม เผยแพร่ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่สนใจได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสถานการณ์ปัจจุบัน จากการรวมครั้งนั้นทำให้เกิดชมรมและจัดตั้งเป็นสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายในที่สุด เพื่อเป็นเครือข่ายในการปฏิบัติงานและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต่อไป

การให้บริการของศูนย์

  • รับปรึกษาและดูแลผู้ป่วยใน
  • ติดตามผู้ป่วยที่บ้าน
  • การดูแลผู้ป่วยนอก
  • บริการฝังเข็มและแพทย์ทางเลือก
  • ติดตามญาติผู้ป่วยภายหลังการสูญเสีย
  • จัดอบรมและกิจกรรมวิชาการเกี่ยวกับการดูแลประคับประคอง
  • จัดอบรมและติดตามการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร/จิตอาสา

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

สำหรับผู้ป่วยนอก ดังนี้

  • Supportive care clinic
    เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 12

  • คลินิกศูนย์ชีวาภิบาล
    เปิดให้บริการทุกวันพุธ และ วันพฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 13

  • Palliative care & CAM
    เปิดให้บริการทุกวันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 17

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์ชีวาภิบาล 
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 14 โซน D

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 649 4000 ต่อ 81420-21

Facebook หน่วยงาน

ศูนย์ชีวาภิบาล Cheewabhibaln Center