พิธีติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน เพื่อเร่งอนุภาคโปรตอน ของศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และทอดพระเนตรนิทรรศการความเป็นมาของศูนย์ โดยมี คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย นายเตช บุนนาค ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายบริหาร ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางสาวเฉลาศรี เสงี่ยม หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เฝ้ารับเสด็จ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2562 ณ อาคารศูนย์ความก้าวหน้าทางวิชาการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ทั้งนี้ การติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน เพื่อเร่งอนุภาคโปรตอน เป็นวิทยาการความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง จะนำไปให้บริการในโครงการศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน ซึ่งตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 65 พรรษา 2 เมษายน 2563 โดยได้พระราชทานนามว่า “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งมีคุณภาพ เพิ่มอัตราการอยู่รอด มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง โดยมีผู้ป่วยมะเร็งของทุกภูมิภาคในประเทศเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมะเร็งเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์เกี่ยวกับเครื่องไซโคลตรอน การดำเนินงานของศูนย์ฯ และทรงกดปุ่มไฟฟ้านำเครื่องไซโคลตรอนเข้าสู่ “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” พร้อมทอดพระเนตรการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน โดยเครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอนนี้ จะผลิตอนุภาคโปรตอนสำหรับนำไปรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้การรักษามีศักยภาพที่สูงขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการสูญเสียทั้งต่อชีวิตและต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากเป็นการรักษาที่ตรงจุด ขณะที่เนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยทั่วไป
ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการศูนย์โปรตอน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดแสดงประวัติการใช้เครื่องฉายรังสีรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, หลักการทำงานและส่วนประกอบของเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน, แผนผังอาคาร, แผนเตรียมความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน และแผนการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งคาดว่าจะนำไปรักษาผู้ป่วยเนื้องอกและมะเร็ง เช่น เนื้องอกในสมอง, มะเร็งในเด็ก, มะเร็งศีรษะและลำคอ, มะเร็งสมอง, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งปอด, มะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งต่อมลูกหมาก คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2563