โรคนอนกรน


การนอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่มเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ หากถูกรบกวนด้วยคนข้างๆ ที่นอนกรนตลอดทั้งคืน หลายๆ คนก็อาจจะรู้สึกรำคาญไม่น้อย แต่รู้ไหมว่า แท้จริงแล้วการนอนกรนนั้นซ่อนอันตรายมากกว่าแค่เสียงที่น่ารำคาญในยามนอน ที่คุณอาจจะคาดไม่ถึงอยู่ด้วย

สาเหตุ

การนอนกรนนั้น อาจเกิดได้ตามอายุที่มากขึ้น จึงทำให้เนื้อเยื่อขาดความตึงและทำให้ลิ้นไก่นั้นตกไปบังทางเดินหายใจได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอีก คือ

  1. ลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะผิดปรกติ ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม
  2. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนอนกรนนั้นจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.5 เท่า
  3. โรคอ้วน ทำให้ผู้ป่วยมีไขมันสะสมจำนวนมากและเสี่ยงต่อการอุดตันทางเดินหายใจได้
  4. อาการแน่นจมูก โรคต่างๆเช่นไซนัส ที่ทำให้หายใจลำบากมากขึ้น รวมถึงอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มสุราได้อีกด้วย
  5. โรคต่อมไร้ท่อต่างๆ ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องของการนอนกรนนั้นยังอาจพบในเด็กได้ด้วย โดยมักจะเกิดจากการที่ต่อมทอนซิลโตกว่าคนทั่วไป หรืออาการไซนัส ซึ่งทำให้หายใจได้ลำบาก

 

อาการของโรค

อาการของการนอนกรนนั้นแบ่งเป็นสองประเภทคือนอนกรนแบบอันตรายและไม่อันตราย

การนอนกรนแบบอันตราย หรือเรียกโดยย่อว่า OSA นั้น เมื่อหลับสนิทจะเกิดอาการกรนเสียงดัง เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศ ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลายครั้งในหนึ่งคืน และในทุกครั้งที่เกิดอาการนั้น ออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงจะลดต่ำลง ซึ่งจะบังคับให้สมองสั่งการกล้ามเนื้อให้ทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปทดแทน ซึ่งทำให้เกิดการหลับไม่สนิทและส่งผลเสียต่อร่างกาย

วิธีการรักษา

สามารถทำได้โดยง่ายที่สุดคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดความอ้วน หรือเปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง รวมถึงเลิกดื่มสุราและสูบบุหรี่

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนขั้นรุนแรงนั้นอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ CPAP รวมถึงการผ่าตัด สามารถช่วยแก้อาการนอนกรน แก้อาการหายใจติดขัด รวมถึงโรคหยุดหายใจขณะหลับได้

การนอนกรนนั้น หากสามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นผลดีต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองรวมถึงคนรอบข้างที่สามารถวางใจถึงคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

 

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาปัญหาด้านการนอนได้ที่

ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อาคารผู้ป่วยในพิเศษ 14 ชั้น ชั้น 5
วันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ เวลา 08.30-16.00 น.
เบอร์โทรศัพท์ 0-2649- 4037, 0-2649- 4038