ไวรัสตับอักเสบบี


คนไทยเป็นแหล่งพาหะของไวรัสตับอักเสบบีหรือเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังเกิน 6 เดือน ซึ่งพบประมาณ 2-3 คน ใน 100 คน ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อมาจากมารดาตั้งแต่เป็นทารก ปัจจุบันมักจะพบน้อยลงในเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณปี 2535 ดังนั้น ไวรัสตับอักเสบบีจึงมักเป็นกับคนรุ่นที่เกิดก่อนปีนั้น

สาเหตุ

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถถ่ายทอดผ่านทางเลือด จากแม่สู่ลูก และการมีเพศสัมพันธ์ โดยปัญหาหลักของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบคือไม่รู้ตัวว่าเป็น หรือไม่รู้ตนเองว่ามีพาหะของเชื้อซึ่งสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ เนื่องจากส่วนน้อยจะแสดงอาการ ปัญหาของผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวทำให้เมื่อไปพบแพทย์ด้วยอาการของโรคอื่น เมื่อได้รับยาประเภทสเตียรอยด์จะมีฤทธิ์ไปกดภูมิร่างกาย และเมื่อหยุดยา โรคไวรัสตับอักเสบจะกลับมารุนแรงมากขึ้น

อาการของโรค

อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยคือ ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียผิดปกติ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสแบบเฉียบพลันส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเรื้อรัง บางคนอาจจะไม่แสดงอาการเลย หรือบางคนไวรัสอาจจะทำลายตับหรือแพร่กระจายอยู่ในตับเป็นเวลานานกว่าจะแสดงอาการ ขึ้นอยู่กับร่างกายและสภาพแวดล้อมของแต่ละคน ซึ่งจำนวนไวรัสที่มีมากในตับจะก่อให้เกิดโรคตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

วิธีการรักษา

การรักษามี 2 วิธี ได้แก่
1. การกินยา เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและการแพร่กระจายของเชื้อ ถือเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
2. การฉีดยา (Interferon) เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน โดยการฉีดใต้ผิวหนังอาทิตย์ละครั้ง และฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงจากยามากกว่ายาแบบรับประทาน

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ฉีดวัคซีนป้องกัน หากผู้ติดเชื้อได้รับการ
รักษาตั้งแต่ต้น โอกาสเป็นโรคตับแข็งก็ลดลงหรือสามารถหายจากอาการตับแข็งได้ และยังลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง
ตับอีกด้วย


สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อาคารวชิรุณหิศ ถนนพระราม 4เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 02 256 4691
Website: http://chulaliverunit.com