คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน รวมพลังเสนอ “นโยบายต่อสู้โรคมะเร็งที่ถูกต้อง” เพื่อพิจารณาเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ศ. นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , ศ. ดร. พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณบดีทั้ง 4 สถาบัน เข้าร่วมเปิดงาน คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน รวมพลังจัดงาน “การประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” ในระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์” โดยการจัดงานประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์โดยเฉพาะด้านมะเร็งวิทยาของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
การจัดกิจกรรมส่วนภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด “ยุทธการต้านมะเร็ง” มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือกันเพื่อผลักดันเชิงนโยบายที่จะต่อสู้กับมะเร็งในระดับชาติ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาและการให้บริการอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน
ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 คาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งประมาณ 18 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.6 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 6 รายของการเสียชีวิต จะเกิดจากโรคมะเร็ง
ในขณะที่โรคมะเร็งส่วนมากยังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรน้อย เช่น ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าถึงการป้องกัน การวินิจฉัย การรักษาโรค และการดูแลมะเร็งระยะสุดท้ายจะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อผู้ป่วยและประเทศ โรคมะเร็งมักจะถูกพบในระยะที่ 3 และ 4 มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้โอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตก การควบคุมและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจึงเป็นปัญหาที่มีความท้าทายอย่างสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนบูรณาการ และต้องการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง ภาควิชาการ รัฐบาล และประชาชน เพื่อที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ