อยู่กับภาวะ “หัวใจล้มเหลว” อย่างไร ให้ “สำเร็จ”


เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำนําสมัยในศตวรรษนี้ ให้ชีวิตใหม่กับผู้ป่วย “โรคร้ายแรง” ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แต่ก็น่า ใจหายเช่นกันที่ “โรคเรื้อรัง” กลับเป็นสาเหตุที่บั่นทอนชีวิตมนุษย์ยุคใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาวะ “หัวใจล้มเหลว” ก็คือหนึ่งในนั้น ในปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวคือ 1 ใน 5 คน โดยมีประชากรมากกว่า 30 ล้านคนทั่วโลกกําลังอยู่ในภาวะนี้ อีกทั้งยัง มีจํานวนผู้เสียชีวิตมากกว่ามะเร็งทุกชนิดรวมกันด้วย
หากเอ่ยถึงภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) หลายคนอาจจะสงสัยในอาการดังกล่าว แต่หากพูดถึงภาวะ “น้ําท่วมปอด” หรือ “หัวใจโต” เชื่อว่าน่าจะเคยได้ยินและเห็นภาพกันมากขึ้น เพราะอาการสําคัญที่บ่งชี้ถึงชื่อของภาวะนี้คือน้ำคั่ง จากสภาวะที่หัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ทําให้เหนื่อยง่าย หายใจลําบาก รู้สึกเหมือนจมน้ำไม่สามารถนอนราบได้ ต้องใช้หมอนหนุนหลังตลอดเวลา ขาบวม ท้องบวม และน้ําหนักตัวเพิ่มสูงผิดปกติ เพราะการคั่งของน้ำในร่างกาย อาจจำอาการง่ายๆ เป็นตัวย่อว่า 3 น กับ 1 บ คือ น้ำหนักขึ้น เหนื่อย นอนราบไม่ได้ และบวม
กลุ่มงานภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (Heart Failure and Transplant Cardiology) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มงานที่มีบทบาททั้งการรักษาและการสร้างองค์ความรู้เป็นคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการดูแลรักษาครอบคลุมทุกระยะของความผิดปกติตั้งแต่การให้ความรู้ การใช้ยา การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ไปจนถึงการปลูกถ่ายหัวใจและหัวใจเทียม (เครื่องพยุงหัวใจ) ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่ฝึกอบรมด้านภาวะหัวใจล้มเหลวจากต่างประเทศ 3 ท่าน ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นสาขาใหม่และยังไม่มีการฝึกอบรมนี้ในประเทศไทยได้แก่ ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ (หัวหน้ากลุ่มงานภาวะหัวใจล้มเหลว) นพ.สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม และ นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์
          ทั้งนี้ นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการนี้ไม่ใช่โรคแต่เป็นสภาวะที่หัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ และยังเป็นภาวะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจ พิการแต่กําเนิด เป็นต้น
เมื่อได้ชื่อว่าเป็นภาวะเรื้อรัง จึงสามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด จําเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดเพื่อดูแลผู้ป่วยภาวะนี้ ทั้งการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยขับน้ําส่วนเกินที่คั่งอยู่ออกจากร่างกาย การใช้ยาหัวใจที่เหมาะสมจะเพิ่มโอกาสที่หัวใจจะบีบตัวดีขึ้นแข็งแรงมากขึ้น โดยลดความดันหรือทําให้หัวใจบีบช้าลงลด การใช้พลังงานผู้ป่วยก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง อีกทั้งยังต้องปรับการให้ยาตามสภาวะอาการอยู่เสมอ การดูแลผู้ป่วย 1 คนจึงต้องอาศัยทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบําบัด และเภสัชกร ดังนั้นการทํางานเป็นทีมจึงเป็นปัจจัยสําคัญของความสําเร็จในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งกลุ่มงานนี้ได้ตอบโจทย์ผู้ป่วยในด้านความพร้อมของทีมตั้งแต่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ เภสัช นักโภชนาการ รวมถึงแพทย์หัวใจและผ่าตัดหัวใจทุกด้าน
สําหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยของกลุ่มงานภาวะหัวใจล้มเหลว รพ.จุฬาฯ คือการให้ผู้ป่วยจะต้องเป็นศูนย์กลางของการรักษา เป็นเจ้านายของร่างกายตนเอง เน้นการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติเพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้ โดยมีทีมแพทย์ทําหน้าที่เป็นเพียงโค้ชช่วยแนะแนวทางที่ถูกต้อง เพราะทุกๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการลดการทานเค็ม การออกกําลังกาย การหมั่นตรวจเช็คความเปลี่ยนแปลงของน้ําหนักตนเองหรือแม้กระทั่งการทานยาอย่างสม่ําเสมอ คือหัวใจสําคัญของการดํารงอยู่ด้วยวิถีชีวิตที่ดีขึ้น
ทีมแพทย์กลุ่มงานภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์ การปลูกถ่ายหัวใจได้ฝากถึงการดูแลตนเองของผู้ป่วยอีกด้วยว่า ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวคือการให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน ห้ามใช้แรงแต่ในสําหรับการดูแลตนเองที่ถูกวิธีนั้น ผู้ป่วยควรออกกําลังกายร่วมกับการรักษาโดยทีมแพทย์ เพื่อให้หัวใจแข็งแรงขึ้นและทํางานใกล้เคียงสภาวะปกติ ทั้งนี้คนในครอบครัวก็จะต้องมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะการลดการทานเค็มซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนไทย รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กันด้วย

เพราะ “หัวใจล้มเหลว” ไม่ได้ล้มเหลวและน่ากลัวเสมอไป เรา “ประสบความสําเร็จ” ในการสร้างวิถีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตนเองและคนในครอบครัวที่เรารักอย่างถูกวิธี

สําหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
กลุ่มงานภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ
ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อาคาร สก ชั้น 17 ห้อง 1711
โทรศัพท์ (02) 256 5371, (081) 383 9302