โรคงวงช้าง
โรคงวงช้าง (Frontoethmoidal Encephalomeningocele) เป็นความพิการแต่กำเนิด โดยมีก้อนงอกออกมาตรงบริเวณดั้งจมูก ระหว่างตาทั้งสองข้าง พบได้ทั้งขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วเขียว จนถึงขนาดใหญ่เท่าศีรษะ มีลักษณะคล้ายงวงของช้าง จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคงวงช้าง” ที่เรียกกันในชุมชน
โรคงวงช้าง สามารถพบได้ในอัตราส่วน 1 ต่อ 6,000 ถึง 36,000 คนของเด็กแรกเกิด พบมากในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน มักพบในครอบครัวไทยแท้ มีฐานะยากจน และในการตั้งครรภ์หลังๆ ของมารดา โดยเป็นการตั้งครรภ์ที่ห่างจากครั้งก่อนประมาณ 7 ปี
สาเหตุ
ความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคงวงช้าง มีขึ้นตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากรูรั่วที่ฐานกะโหลกศีรษะด้านหน้าทำให้เนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมองยื่นออกไปกลายเป็นก้อนบริเวณจมูก นอกจากความผิดปกติที่มีก้อนบนใบหน้าแล้ว ผนังกระบอกตาด้านในจะถูกเบียดให้ห่างจากกันมากกว่าปกติ มีจมูกยาวกว่าปกติ ฯลฯ และมักมีความผิดปกติในสมองร่วมสูงถึง 68%
การตรวจวินิจฉัยและแนวทางการรักษา
การวินิจฉัยโรคนี้ยืนยันได้ด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CAT scan) และควรได้รับการผ่าตัดอย่างถูกต้องเหมาะสมตามความรุนแรงของโรค เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมา เช่น ปัญหาการทำงานของสมอง การมีแผลที่ก้อนและมีน้ำหล่อสมองไขสันหลังรั่ว ปัญหาสายตาเสื่อมเพราะถูกบดบังโดยก้อน รวมถึงปัญหาความสวยงามและการเข้าสังคม เป็นต้น
การรักษาโรคงวงช้าง สามารถทำได้ด้วยวิธี “จุฬาเทคนิค” ซึ่งเป็นการผ่าตัดกระดูกตรงโคนดั้งจมูกเป็นรูปตัว T เล็ก ๆ เพื่อตัดก้อนเนื้อออก และเย็บปิดรูรั่ว จากนั้นตกแต่งกระบอกตาด้านในและเสริมจมูก ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี เพราะสมองของผู้ป่วยจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อย ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
สามารถติดต่อขอรับการรักษาและคำปรึกษาได้ที่
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อาคาร สก ชั้น 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในเวลาทำการ จันทร์ถึงศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ เวลา 8.00-16.00 น.
โทรศัพท์ 0-2256-4330
www.craniofacial.or.th
Line : @Thaicraniofacial