ศูนย์ประสาทศาสตร์
Chula Neuroscience Center
เทคโนโลยีทันสมัย ใส่ใจผู้ป่วย ดูแลครบวงจร
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้ง ศูนย์ประสาทศาสตร์ (Chula Neuroscience Center) เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยเป็นศูนย์รวมบุคลากรสหสาขาวิชาชีพแพทย์ การวิจัย และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้ป่วยและวงการแพทย์ระบบประสาทของไทย ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพแพทย์ เช่น ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ จักษุประสาท ประสาทศาสตร์ โสตประสาทวิทยา กุมารเวชประสาทวิทยา เวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวิทยาด้านระบบประสาท เภสัชวิทยา พยาธิวิทยา และสรีรวิทยา
ศูนย์ประสาทศาสตร์ จึงถือได้ว่าเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่รวบรวมเอาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางระบบประสาททั้งระบบมาบูรณาการ ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ฯ ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ฯ โรคลมชัก ศูนย์ฯ โรคพาร์กินสัน และศูนย์ฯ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
รางวัลที่ภาคภูมิใจของศูนย์
รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2563 ประเภทพัฒนาบริการ ระดับดี
ผลงาน “คลินิกระบบประสาททางไกล (Teleneurology Clinic)” โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
เจตจำนง
เป็นศูนย์ประสาทศาสตร์ในระดับภูมิภาค ที่มีการรวมตัวของบุคลากรสหสาขาวิชาชีพและมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างครบวงจร
ภาระหน้าที่
- ประยุกต์ความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์เพื่อบริการทางคลินิก
- พัฒนารูปแบบวิธีการป้องกัน การดูแลรักษา และการฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาท
- ผลิตบัณฑิตและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญทั้งด้านประสาทวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และประสาทวิทยาศาสตร์คลินิก
- พัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงประสาทวิทยาศาสตร์กับศาสตร์สาขาอื่น ๆ เพื่อประยุกต์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ
- ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม
ศูนย์ประสาทศาสตร์มีหน่วยงานย่อยที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ ดังนี้
- คลินิกตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
- คลินิกตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
- คลินิกตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
- คลินิกประสาทจักษุ
- คลินิกประสาทพันธุศาสตร์
- คลินิกประสาทสรีรวิทยา
- คลินิกระบบประสาททางไกล
- คลินิกสมองอักเสบ
- คลินิกโสตประสาทและการทรงตัว
การให้บริการของศูนย์
การดำเนินงานของศูนย์ประสาทศาสตร์ภายใต้แนวคิดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เน้นการทำงานเชิงลึกที่มุ่งทำการศึกษาวิจัยและรวบรวมอุปกรณ์การแพทย์ทางระบบประสาทที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการทำงานเชิงกว้าง ซึ่งมีการจัดโปรแกรมการตรวจคัดกรองโรคทางระบบประสาทเบื้องต้น (Screening Package) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง และ โรคพาร์กินสัน โดยแพทย์จะให้คำปรึกษาและแนะนำถึงการป้องกันและการรักษาอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการดูแลรักษาในผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงที่ทันสมัยมาใช้ ซึ่งมีทั้งการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและการใช้นวัตกรรมที่พัฒนาโดยบุคลากรภายในมาใช้ อาทิ
1. เครื่อง Functional Near-Infrared Spectroscopy (fNIRS)
ซึ่งเป็นเครื่องตรวจการทำงานของสมองโดยใช้หลักการดูดซับแสงใกล้อินฟราเรด (Near Infrared) ที่สามารถตรวจประเมินการทำงานของสมองได้แบบ Real Time ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องมือนี้
2. เครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Vascular USG)
สามารถตรวจวัด ประมวลผลและติดตามความเร็วของเลือดในหลอดเลือดสมองตามจุดต่าง ๆและสามารถตรวจหาลิ่มเลือด (Emboli Detection)
3. เครื่องตรวจวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตาด้วยเลเซอร์
สแกน (Optic Coherence Tomography Angiography – OCTA) ที่สามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่เกี่ยวกับประสาทตาได้โดยใช้เวลาการตรวจเพียง 5 นาที
4. เครื่องตรวจประเมินพร้อมฟื้นฟูการเวียนศีรษะและการทรงตัว (Posturography)
ใช้ตรวจแยกปัญหาการเวียนศีรษะและการทรงตัวผ่านคอมพิวเตอร์ Sensory Organization Test, Motor Control Test, Adaptation Test และฟื้นฟูระบบการทรงตัว ด้าน Mobility, Closed Chain, Weight Shifting, Quick Training, Visual
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ประสาทศาสตร์ยังมีห้องปฏิบัติการวิศวกรรมการแพทย์ (Biomedical Engineering Room) เพื่อรองรับการคิดค้นวิจัยทุกรูปแบบ และใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เพื่อลดภาระของผู้ป่วยและญาติในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยมี “คลินิกระบบประสาททางไกล” (Teleneurology clinic) เป็นคลินิกต้นแบบ
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ศูนย์ประสาทศาสตร์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ อาคาร ส.ธ. (ผู้สูงวัย) ชั้น 11
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ศูนย์ประสาทศาสตร์
อาคาร ส.ธ. (ผู้สูงวัย) ชั้น 11
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 4000 ต่อ 71105, 71107
เว็บไซต์หน่วยงาน