ฝ่ายพยาธิวิทยา

Department of Pathology

มุ่งพัฒนาเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศและภูมิภาค
ในการผลิตพยาธิแพทย์มืออาชีพ

ฝ่ายพยาธิวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น “แผนกพยาธิวิทยา” ซึ่งจัดตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 โดยได้เปิดภาคเรียนครั้งแรกวันที่ 11 มิถุนายน
พ.ศ. 2490 เมื่อเริ่มแรกแผนกพยาธิวิทยาเป็นหนึ่งในแผนกที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการสอนวิชาพยาธิวิทยา วิชาปรสิตวิทยา วิชาจุลชีววิทยา วิชาเวชศาสตร์ชันสูตรและวิชานิติเวชวิทยา อันเป็นวิชาพื้นฐานทางปรีคลินิกของหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตร์ร่วมกับแผนกสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ ศ.นพ.เฉลิม พรมมาส เป็นผู้รักษาการหัวหน้าแผนกเป็นคนแรก โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ สุวรรณเตมีย์ เป็นหัวหน้าแผนกในลำดับถัดมาจนถึงปี พ.ศ. 2510

ต่อมาเมื่อคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โอนเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเปลี่ยนชื่อแผนกเป็นภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขณะเดียวกันก็เป็นฝ่ายพยาธิวิทยาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไปพร้อม ๆ กันด้วยจนถึงปัจจุบัน

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ปี พ.ศ. 2551 : วินิจฉัยรอยโรค “Plasmablastic Lymphoma” ในสมองของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ
และ รศ.นพ.ธรรมธร อาศนะเสน

ปี พ.ศ. 2553 : ค้นพบรอยโรค “Angiomyeloproliferative Lesion” ที่เกิดจากการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรค SLE เป็นรายแรกของโลก โดย ผศ.พญ.ดวงเพ็ญ
ถิระบัญชาศักดิ์

ปี พ.ศ.2555 : ค้นพบการเพิ่มจํานวนเซลล์ Myofbroblast ตามขอบ placental villi ของทารกฮีโมโกลบินบาร์ต เป็นครั้งแรกของโลก ลักษณะดังกล่าวเป็นการปรับตัวของรกต่อภาวะขาดออกซิเจนในครรภ์ โดย ศ.นพ.มานะ ทวีวิศิษฎ์

ปี พ.ศ. 2558 : รายงานผู้ป่วยเอดส์ที่เป็น EBV-associated Smooth muscle tumor ซึ่งมีจํานวนผู้ป่วยมากที่สุด โดย ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ร่วมกับ ศ.นพ.ชุษณา
สวนกระต่าย

ปี พ.ศ.2558 : ค้นพบเยื่อบุถุงน้ำคร่ำอักเสบจากวัณโรคเป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.มานะ ทวีวิศิษฎ์

ปี พ.ศ. 2560 : ค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ชนิด V600E ในโรค Juvenile Xanthogranuloma ที่เกิดในสมองและศีรษะเป็นครั้งแรกของโลก
โดย ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ

ปี พ.ศ. 2561 : ค้นพบลักษณะทางเซลล์วิทยา (cytology) ของมะเร็ง Low-grade Myofbroblastic Sarcoma เป็นครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.มานะ ทวีวิศิษฎ์

ปี พ.ศ. 2562 : ศึกษาและนําเสนอ Compact buds ใน Thyroglossal Duct Cyst เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งวารสารการแพทย์ Virchows Archiv ที่ตีพิมพ์งานวิจัยนี้ได้นําภาพ Compact buds นี้ขึ้นเป็นภาพหน้าปกของวารสารฉบับดังกล่าว โดย ศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ และ Dr.Andrey Bychkov

เจตจำนง

ฝ่ายพยาธิวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งพัฒนาเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศและภูมิภาคในการผลิตพยาธิแพทย์มืออาชีพและสาขาต่อยอด บัณฑิตประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางคลินิก ปริญญาโท และปริญญาเอกที่มีคุณภาพและคุณธรรมตามความต้องการและสถานการณ์ของประเทศ รวมทั้งให้บริการการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาของสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสอนและสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ภาระหน้าที่

ด้านการสอน

มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพยาธิแพทย์มืออาชีพและต่อยอดสาขาเฉพาะทางที่มีความรู้คู่คุณธรรม ใฝ่รู้ และรู้จักวิธีการเรียนรู้สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องรวมถึงมีเจตคติที่ดีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการบริการ

ให้บริการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาของสิ่งส่งตรวจและผู้ป่วยด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยได้อย่างถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม และตามมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นที่ปรึกษาของสหสาขาทางการแพทย์และสถาบันการแพทย์อื่น ๆ 

ด้านการวิจัย  

สนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยทางพยาธิวิทยา กายวิภาคที่เชื่อถือได้ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ มีจำนวนที่เหมาะสมกับสถาบันชั้นนำทุกปี

การให้บริการของฝ่ายพยาธิวิทยา

ฝ่ายพยาธิวิทยา แบ่งหน่วยงานออกเป็น 4 ส่วน  ได้แก่

  1. งานการเรียนการสอน
  2. งานธุรการและงานบริหารทั่วไป
  3. งานบริการทางพยาธิวิทยาและการประกันคุณภาพ
  4. งานวิจัย 

โดยในส่วนงานบริการทางพยาธิวิทยาและการประกันคุณภาพฝ่ายพยาธิวิทยา ได้เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 

  1. ศัลยพยาธิวิทยา (Surgical Pathology) 
  2. เซลล์พยาธิวิทยา (Cytopathology) 
  3. ชิ้นเนื้อแช่แข็งที่ส่งตรวจในระหว่างผ่าตัด (Intraoperative Frozen Section) 
  4. การตรวจวินิจฉัยด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron Microscopy) 
  5. การตรวจทางฮีสโตเคมีและอิมมูโนฮีสโตเคมี (Histochemistry and Immunohistochemistry) และการตรวจทางอณูชีววิทยา (Molecular Pathology) 
  6. การตรวจศพทางพยาธิวิทยา (Autopsy)

ทั้งนี้ได้ยึดถือคุณภาพเป็นหัวใจหลักในการให้บริการ โดยห้องปฏิบัติการของภาควิชาพยาธิวิทยาได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบ ISO 15189/15190 และตามมาตรฐานของราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ในด้านการออกผลทางพยาธิวิทยานั้นเป็นการออกผลทางพยาธิวิทยาโดยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางพยาธิวิทยาที่ผ่านการฝึกอบรมตามระบบที่ได้มาตรฐานสากลจึงทําให้ผลการรายงานมีความถูกต้องทางวิชาการสูง


วัน /เวลา และสถานที่ให้บริการ

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลาทำการ 08.00 – 16.00 น. ณ อาคาร อปร ชั้น 13 

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายพยาธิวิทยา 
อาคาร อปร ชั้น 13

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4235 , 02 256 4581 

โทรสาร

02 652 4208

เว็บไซต์หน่วยงาน