ฝ่ายสวัสดิการสังคม

Social Welfare


ให้บริการสังคมสงเคราะห์ที่ครอบคลุมมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และจิตวิญญาน
ของผู้ป่วยและครอบครัว ให้ได้รับบริการสุขภาพอย่างเป็นธรรม
และพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
สร้างสรรค์งานวิชาการและนวัตกรรมสู่สังคม

ฝ่ายสวัสดิการสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เดิมชื่อ หน่วยสังคมสงเคราะห์ สังกัดแผนกบรรเทาทุกข์และอนามัย สภากาชาดไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2508 โดยเริ่มแรกมีนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติงานทั้งสิ้น จำนวน 4 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 หน่วยสังคมสงเคราะห์ได้รับการยกฐานะเป็น แผนกสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ภายใต้สายการบังคับบัญชาตรงต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปีพ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถัดมาในปี พ.ศ. 2547 มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอีกครั้งเป็น ฝ่ายสวัสดิการสังคม จวบจนปัจจุบันมีบุคลากรทั้งสิ้น 41 คน โดยแบ่งเป็น

  1. นักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับใบอนุญาต “นักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต” จากสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 จำนวน 36 คน  
  2. บุคลากรอื่น ๆ จำนวน 5 คน

ผู้บังคับบัญชา ฝ่ายสวัสดิการสังคม จากอดีตถึงปัจจุบัน

1. นางเลื่องบุญ ลาวัลยะวัฒน์

พ.ศ. 2508 – พ.ศ. 2521  

2. นางรัตนา มุขธระโกษา

พ.ศ. 2522 – กันยายน พ.ศ. 2546

3. นางสาวพจนา วาณิชเสนี

ตุลาคม พ.ศ. 2546 – กันยายน พ.ศ. 2548 

4. นางเรณุวรรณ โพธิ์สุข

ตุลาคม พ.ศ. 2548 – กันยายน พ.ศ. 2552 

5. นางชลิดา อุทัยเฉลิม

ตุลาคม พ.ศ. 2552 – กันยายน พ.ศ. 2563 

6. นางสาววีรมลล์ จันทรดี

ตุลาคม พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน

นางสาววีรมลล์ จันทรดี
ผู้บังคับบัญชา ฝ่ายสวัสดิการสังคม


ภาระหน้าที่

  1. ให้บริการทางสังคม เศรษฐกิจ จิตใจ และจิตวิญญาณกับผู้ใช้บริการและครอบครัว
  2. ส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  3. บริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล

บทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์

1. ด้านการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยและครอบครัว

นักสังคมสงเคราะห์จะทำงานร่วมกับทีมรักษาพยาบาลในลักษณะสหวิชาชีพ เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างเข้าถึงทั้งทางด้านร่างกายจิตใจอารมณ์และสังคม ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้ผลดีที่สุด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพในครอบครัวและสังคม ในบางกรณีนักสังคมสงเคราะห์จะเข้าไปช่วยวางแผนการดูแลร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวแม้เมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้วก็ตาม โดยมีการเยี่ยมบ้านเพื่อเป็นการติดตามและประเมินผล ตลอดจนการดูแลปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้เอื้อต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยเฉพาะโรค พร้อมให้ความช่วยเหลือในกรณีที่มีความจำเป็น ทำให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยบทบาทในด้าน
ต่าง ๆ ในการให้บริการผู้ป่วยและครอบครัว ได้แก่

1.1 ด้านสุขภาพกายและจิตใจ

นักสังคมสงเคราะห์จะใช้กระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ ทั้งการสังคมสงเคราะห์เฉพาะรายและกลุ่มในการประเมินวินิจฉัยทางสังคม มีการร่วมวางแผนกับผู้ป่วยและครอบครัว ดำเนินการให้ความช่วยเหลือป้องกัน แก้ไข เฝ้าระวังความเสี่ยง และพัฒนาฟื้นฟู โดยการให้การปรึกษาแนะนำ สนับสนุนให้กำลังใจ เสริมพลัง ประสานงานส่งต่อ พิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้มาใช้บริการ และปฎิบัติร่วมกันกับทีมสหวิชาชีพในการให้และรับข้อมูล และร่วมวางแผนในการดูแลผู้ป่วย เช่น                        

  1.  การประเมินความพร้อมของผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะและปลูกถ่ายไขกระดูก
  2. โครงการการดูแลผู้ป่วยแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
  3. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กป่วยเรื้อรัง
  4. โครงการการดูแลกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน กลุ่มผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยพาร์กินสัน กลุ่มผู้ป่วยไตใหม่ กลุ่มผู้ป่วยไขกระดูก กลุ่มเบาหวาน เป็นต้น

1.2 ด้านสังคม

นักสังคมสงเคราะห์จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนด้านพลังใจแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในครอบครัวและสังคม รวมถึงการแสวงหาเครือข่ายทางสังคมเพื่อส่งต่อผู้ใช้บริการไปรับบริการที่เหมาะกับสภาพปัญหา ทั้งยังช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและครอบครัว กลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น

  1. การริเริ่มก่อตั้งชมรมเพื่อนวันพุธ (ชมรมผู้ติดเชื้อเอชไอวี)
  2. ปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศในการให้บริการชุมชน เช่น การจัดงาน Stroke Day วันเทียนส่องใจ

1.3 ด้านจิตวิญญาณ

เป็นอีกมิติหนึ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัว ภายใต้บริบทของความเชื่อทางศาสนาที่มีความแตกต่าง คำนึงถึงความต้องการและสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่ผู้ป่วยและ/หรือครอบครัวต้องการ การจัดบริการเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ถือเป็นการเติมเต็มในการให้บริการทางสุขภาพโดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ เช่น โครงการดูแลกลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายร่วมกับทีมสหวิชาชีพ จัดงานวันรำลึกผู้จากไป

2. ด้านการพัฒนาวิชาการและการเรียนรู้  

2.1 ด้านบริการวิชาการ

ฝ่ายสวัสดิการสังคมยังให้บริการทางวิชาการสังคมสงเคราะห์ โดยเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและฝึกอบรมที่ให้ทั้งความรู้ในการปฏิบัติงานและประสบการณ์การให้บริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์แก่นักศึกษาสังคมสงเคราะห์และผู้สนใจศึกษาดูงานทั้งจากภายในและภายนอกประเทศตลอดมา องค์ความรู้ที่ฝ่ายสวัสดิการสังคมได้พัฒนามานั้น ยังสามารถนำมาต่อยอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ ภายนอกได้อีกด้วย เช่น 

  1. โครงการความร่วมมือกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาหลักสูตรอบรมเฉพาะทางของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
  2. การสร้างและพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมไปสู่ประชากรกลุ่มเป้าหมายในสังคม เช่น หลักสูตรในโครงการการให้การปรึกษาแบบไม่เป็นทางการ หลักสูตรความรู้เพื่อชีวิตสำหรับแรงงาน หลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพการเฝ้าระวังโรคหัวใจและหลอดเลือด หลักสูตรนักสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เป็นต้น

2.2 ด้านการพัฒนาบุคลากร

ฝ่ายสวัสดิการสังคมยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้แก่บุคลากรในหน่วยงานและสังคมภายนอกอีกด้วย 

  1. การดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรของฝ่ายสวัสดิการสังคมที่มีการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30 ปี  
  2. การจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคของบุคลากร  
  3. กิจกรรมสร้างสัมพันธภาพภายในองค์กร งานปีใหม่ งานเกษียณอายุราชการ ฯลฯ

3. ด้านกิจกรรมเพื่อองค์กร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยโครงการเด่นที่เป็นที่รู้จักและเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คือ “โครงการ CHULA’S DIAMOND” ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มาเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยเริ่มจำหน่ายหนังสือบทเพลงพระราชนิพนธ์เล่มเล็กเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 และจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อผู้ป่วยยากไร้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 ณ วัดธาตุทองพระอารามหลวงและจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

ความภาคภูมิใจ

จากผลการปฏิบัติงานที่ทุ่มเทให้กับผู้ป่วย มูลนิธิศาสตราจารยปกรณ์ อังศุสิงห์ ได้ประกาศเกียรติคุณ นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นให้กับนักสังคมสงเคราะห์ประจำฝ่ายสวัสดิการสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดังนี้

  1. นางรัตนา มุขธระโกษา ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ปี พ.ศ. 2530
  2. นางสาววีรมลล์ จันทรดี ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ปี พ.ศ. 2549
  3. นายกมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ปี พ.ศ. 2550

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

สำนักงานฝ่ายสังคมสงเคราะห์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น M และอาคารวชิรุณหิศ

สำหรับวันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดให้บริการเวลา 08.00 – 16.00 น. ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น M

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

สำนักงานฝ่ายสวัสดิการสังคม
อาคารวชิรุณหิศ

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4220, 02 256 4797-8

โทรสาร

02 256 4411


ชื่อฝ่าย/ศูนย์

สำนักงานฝ่ายสวัสดิการสังคม
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 80140-3