ฝ่ายวิสัญญีวิทยา

Department of Anesthesiology

เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรม
และสร้างมาตรฐานระดับประเทศ

อดีต ศัลยแพทย์มีบทบาทในงานด้านวิสัญญีวิทยาโดยตรง คือ ผู้ให้ยาระงับความรู้สึก โดยสมัยก่อนมักให้ศัลยแพทย์ รุ่นเยาว์เป็นผู้ดมยา และให้ศัลยแพทย์อาวุโสเป็นผู้ผ่าตัด ทำให้วิสัญญีวิทยาจัดอยู่ในภาควิชาศัลยศาสตร์ ต่อมาศาสตราจารย์
นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้มีดําริคิดแยกหน่วยวิสัญญีวิทยาออกจากแผนกศัลยศาสตร์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานตามสากลนิยมที่ว่า “โรงพยาบาลชั้นหนึ่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการแพทย์ในประเทศที่เจริญแล้วย่อมต้องมีแผนกวิสัญญีวิทยาเป็นแผนกอิสระของตนเอง”

ด้วยเหตุนี้ผลงานของวิสัญญีแพทย์จากอดีตสู่ปัจจุบันจึงมีความผูกพันและเชื่อมโยงกับความสําเร็จของงานศัลยกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถือได้ว่า เป็นผู้นําในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่ การผ่าตัดทําคลอดเด็กทางหน้าท้องรายแรกของประเทศ การผ่าตัดปอด การผ่าตัดหัวใจ และการริเริ่มใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม เป็นต้น ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคของการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายไตรายแรกของประเทศ ในปีพ.ศ. 2515 การปลูกถ่ายหัวใจและปลูกถ่ายตับรายแรกของไทย ในปี พ.ศ. 2530 อีกทั้งการผ่าตัดแยกเด็กแฝดสยามรายแรกและการผ่าคลอดเด็กหลอดแก้วรายแรก ในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2530) อีกด้วย

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นฝ่ายวิสัญญีวิทยาแห่งแรกของประเทศไทยและอาจารย์ของฝ่ายฯ ได้มีบทบาทในการเข้าร่วมร่างแนวทางมาตรฐานวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนการพิจารณาด้านจริยธรรมของแพทยสภา หรือแม้แต่การกําหนดค่าธรรมเนียมแพทย์ของวิสัญญีแพทย์ในประเทศไทย และยังได้รับความไว้วางใจในการก่อตั้ง จัดตั้ง และเป็นประธานราชวิทยาลัย วิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ 

  1. รศ.พญ.เพลินศรี จารุวร
  2. รศ.พญ.ปกจิตต์ วิยาภรณ์ 
  3. ศาสตราภิชานแพทย์หญิงคุณวรรณา สมบูรณ์วิบูลย์ 
  4. ศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ 
  5. ศ.นพ.เทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์ 

อีกทั้ง ศ.พญ.สุปราณี นิรุตติศาสน์ ยังได้รับเลือกให้ดํารงตําแหน่งนายกสมาคมการศึกษาด้านความปวด แห่งประเทศไทย (Thai Association for the Study of Pain : TASP) เป็นสมัยที่ 2 และ ผศ.นพ.สหดล ปุญญถาวร ได้รับเลือกเป็นผู้ดำรงตําแหน่งนายกสมาคมเวชบําบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย รวมถึง อ.พญ.พรรณิกา วรผลึก ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ดำรงตําแหน่งประธานชมรมการให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน (Thai SRA) อีกด้วย

นอกจากนี้อาจารย์ในภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีบทบาทในระดับนานาชาติในฐานะนายกสมาคมการให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน และการระงับปวดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asian Oceanic Society of Regional Anesthesia & Pain Medicine : AOSRA&PM)  ในปี ค.ศ. 2014-2016

ในด้านงานวิจัย ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและได้รับการกล่าวอ้างอิงสูงสุดของประเทศ โดยมีงานวิจัยที่เน้นด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่อเนื่องมากว่า 10 ปี นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ทําร่วมกับ สถาบันหรือคณะแพทยศาสตร์อื่นๆ ได้แก่ Thai Study ที่ทําการวิจัยในโรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ และ Perioperative and Anesthetic Advance Events in Thailand (PAAd Thai) ในโรงพยาบาล 22 แห่งจากฐานข้อมูลผู้ป่วยกว่า 333,000 ราย เพื่อเป็นสถาบันชั้นนําที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาความปลอดภัย ทางวิสัญญีของประเทศ

เจตจำนง

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมและสร้างมาตรฐานระดับประเทศ

ภาระหน้าที่

ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้และทักษะด้านวิสัญญีวิทยา และแพทย์เฉพาะทางสาขาวิสัญญีวิทยาที่มีคุณภาพ กอปรด้วยคุณธรรม สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า ให้บริการทางการแพทย์ และวิชาการ เพื่อชี้นำสังคม เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของชาติ และนานาชาติ ประชาคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความภูมิใจในสถาบัน

โครงสร้างของฝ่ายวิสัญญีวิทยา

การให้บริการของฝ่ายวิสัญญีวิทยา

ให้บริการทางการแพทย์และวิชาการ ในด้านการระงับความรู้สึก ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้และทักษะด้านวิสัญญีวิทยาและแพทย์เฉพาะทางสาขาวิสัญญีวิทยาที่มีคุณภาพ


วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา  08.00 – 16.00 น. (ในเวลาราชการ) ณ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 9

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายวิสัญญีวิทยา
อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 9

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 60903 – 60910