รพ.จุฬาฯ เปิดตัวเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม 3 มิติรุ่นล่าสุดเครื่องแรกของโลก
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานและเยี่ยมชมนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติรุ่นล่าสุด ที่ติดตั้งเป็นเครื่องแรกในโลก ณ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม อาคารว่องวานิช ชั้น 2 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมานั้น วันนี้จะขอนำผู้อ่านมารู้จักกับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมเครื่องใหมล่าสุด ที่มีมูลค่าสูงถึง 56 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปด้วยค่าใช้จ่ายที่เข้าถึงได้ โดยมีทีมแพทย์ผู้ดูแลและนำร่องการใช้งานเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าว นำทีมโดย ศ.พญ.ดรุณี บุญยืนเวทวัฒน์ และ พญ.พิมพ์จันทร์ จักกาบาตร์ รังสีแพทย์ประจำศูนย์สิริกิติ์บรมราชีนีนาถ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมาบอกเล่าถึงประสิทธิภาพของนวัตกรรมนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
จุดเริ่มต้นของการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม 3 มิติ รุ่นล่าสุดเครื่องแรกของโลก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แห่งนี้ สืบเนื่องจากในปัจจุบัน มะเร็งเต้านมจัดเป็นโรคมะเร็งในสตรีที่มีสถิติพบมากเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย และยังพบว่าสถิติการเกิดมะเร็งเต้านมของสตรีไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ทวีจำนวนขึ้นทุกปี จึงส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัดและการฉายรังสีมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือมาพบแพทย์ในระยะที่ลุกลามทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ การรักษาจึงเป็นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ถึงแม้จะสามารถควบคุมโรคได้ แต่ผู้ป่วยบางรายมีผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมและการพบแพทย์เมื่อสงสัยว่ามีความผิดปกติอย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาโรคมะเร็งเต้านม
ในปัจจุบัน มาตรฐานการตรวจโรคมะเร็งเต้านมยังใช้การตรวจแมมโมแกรม ซึ่งจะต้องมีการบีบเต้านมระหว่างการตรวจ ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มปฏิเสธการเข้ารับการตรวจ หรือไม่สามารถตรวจได้ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถจึงได้มีแนวคิดที่จะสามารถตรวจผู้ป่วยทุกรายได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และได้ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม 3 มิติ (Dedicated 3D Cone-Beam Computed Tomography : CT Mammogram) รุ่นใหม่ล่าสุดเครื่องแรกของโลกที่จะสามารถเปิดให้บริการตรวจมะเร็งเต้านมแก่ผู้ป่วยทั่วไปโดยที่ไม่ต้องมีการบีบเต้านมระหว่างการตรวจและมีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับการตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม
พญ.พิมพ์จันทร์ กล่าวถึงสมรรถภาพที่โดดเด่นของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมเครื่องนี้ว่า หลักการของเครื่องคือสามารถถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของเต้านมโดยตัวเครื่องจะมีการหมุนรอบเต้านมทั้ง 360 องศา และสามารถสร้างภาพ 3 มิติเสมือนจริงของเต้านมได้โดยไม่ต้องบีบเต้านม โดยใช้เวลาในการตรวจเพียง 10 วินาทีต่อการตรวจแต่ละข้าง อีกทั้งยังสามารถระบุตำแหน่งที่มีความผิดปกติของเต้านมได้อย่างแม่นยำ ซึ่งภาพที่ได้จากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะมีความละเอียดสูง สามารถหมุนได้ทุกทิศทางและขยายภาพเฉพาะที่ได้โดยผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการตรวจใหม่ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยจุดที่มีความผิดปกติแล้ว ยังสามารถช่วยศัลยแพทย์วางแผนการผ่าตัดได้ดีกว่าเดิม และตัวเครื่องยังสามารถเปิดด้านข้างเพื่อนำเครื่องมือเข้าไปทำหัตถการได้
แม้ว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม (CT Mammogram) จะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ยังต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลที่ได้จากในการใช้ในผู้ป่วย ควบคู่กับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถได้ให้บริการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ เครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตอลสามมิติ (Digital Breast Tomosynthesis) เครื่องตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Dedicated Breast MRI) เครื่องตรวจอัลตร้าซาวนด์ชนิดตรวจความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ (Ultrasound Elastography) และเครื่อง Breast Thermography ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดต่างก็มีประสิทธิภาพและความเฉพาะเจาะจงในการตรวจวินิจฉัย ตลอดจนข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้นแพทย์จึงต้องเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย หากการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีมาตรฐานไม่ชัดเจนหรือได้ข้อมูลไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจพิเศษเช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาช่วยวินิจฉัยร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด
พญ.พิมพ์จันทร์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก อีกทั้งยังเป็นการใช้งานจริงสำหรับประชาชนทั่วไปเครื่องแรกของโลกนอกเหนือจากที่เคยติดตั้งเพื่อการวิจัยในประเทศหรัฐอเมริกา โดยได้ผ่านการรับรองจาก FDA ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถก็ได้ใช้เวลาในการศึกษาทดสอบประสิทธิภาพร่วมกับบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา ประเมินเรื่องปริมาณรังสี และให้บริการกับผู้ป่วยนำร่องแล้วโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม พบว่าประสิทธิภาพในการตรวจในผู้หญิงไทยเป็นที่น่าพอใจ และปริมาณรังสีที่ได้รับมีปริมาณต่ำอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยไม่แตกต่างจากการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตอลสามมิติ ทั้งนี้จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการสำหรับประชาชนทั่วไปในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560
ถึงแม้ว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมเครื่องนี้จะมีราคาสูงมาก แต่ทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้รับการสนับสนุนมาจากเงินบริจาคของประชาชนเช่นเดียวกับเครื่องมืออื่นๆ ทุกเครื่องที่ได้เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์อะไรก็สามารถเข้ามารับการรักษาได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากการใช้เครื่องมือที่ราคาแพง เพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจของศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถแห่งนี้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2548 ว่า อยากให้ศูนย์ฯ นี้เป็นที่พึ่งของผู้หญิงนั่นเอง