การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านม ถือเป็นประเภทของโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ของหญิงไทยในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยในผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปแนะนำให้ตรวจมะเร็งเต้านมทุกปี ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ในรพ.จุฬาลงกรณ์มากกว่า 600 รายต่อปี   ซึ่งสามารถจำแนกกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นมะเร็งเต้านมและสาเหตุต่างๆได้ดังนี้

  1. โรคบางชนิดของเต้านม เช่น เนื้องอกหรือซีสต์
  2. ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
  3. ผู้ที่มีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี
  4. ความบกพร่องของสารพันธุกรรม เช่น ผู้ที่มียีน BRCA1 หรือ BRCA2
  5. ผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
  6. ผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปีจากโรคอื่น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

1. การตรวจแมมโมแกรม

การเอกซเรย์โดยใช้เครื่องมือเฉพาะได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด แนะนำสำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และทำการตรวจซ้ำทุกๆ 1 ปี

2. การตรวจด้วยตนเอง ควรทำตั้งแต่ อายุ 20 ปี ขึ้นไป

หากคลำได้ก้อนในเต้านม มีสารเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม ผิวหนัง หรือหัวนมบุ๋ม เป็นสะเก็ดให้พบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงข้างต้นที่กล่าวมานี้ ซึ่งสามารถตรวจเองได้ง่ายๆใน 3 ท่า ได้แก่

1) ยืนหน้ากระจก ดูการเปลี่ยนแปลงของขนาดรูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของหัวนมและเต้านม
2) นอนราบ ใช้มืออีกมือคลำด้วยนิ้วชี้ กลางและนาง
3) อาบน้ำใช้สามนิ้วคลำเช็คทั่วเต้านมและรักแร้

3. ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรเฉพาะทาง ควรทำตั้งแต่ อายุ 40 ปี

4. การตรวจMRI คือภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถตรวจได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA

ผู้ป่วยตั้งแต่อายุ 30 ปี ขึ้นไป หรือเคยมีประวัติได้รับการฉายรังสีปริมาณสูง บริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุน้อย แนะนำให้ทำ MRI ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมเพื่อให้ผลแน่ชัดยิ่งขึ้น

มะเร็งเต้านม สามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และทำการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ที่เว็บไซต์ www.chulacancer.net

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
อาคาร ภปร ชั้น 1
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์  02 256 4000