5 โรคที่มากับหน้าฝน


สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เย็นชุ่มฉ่ำในช่วงหน้าฝน เป็นสาเหตุทำให้โรคติดต่อสามารถ แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับอากาศประเทศไทยที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น ยิ่งทำให้สุขภาพและภูมิคุ้มกันถดถอย จึงเป็นที่มาของโรคติดต่อยอดฮิตที่ควรทราบและพึงระวังไว้ โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนคือ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก

 โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายชนิด ติดต่อและ แพร่กระจายได้ง่าย ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ น้ำมูกใส ระคายคอ เสียงแหบ และไอ การรักษาเป็น การรักษาตามอาการ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการมักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน

 โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่าย คนกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และมีอาการรุนแรงหรือพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง

อาการ

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมักมีน้ำมูกและไอร่วมด้วย ภาวะแทรกซ้อนซึ่งมักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือ ภาวะปอดอักเสบ

การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่อาศัยอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่จากน้ำในโพรงจมูกและเสมหะของผู้ป่วย

การรักษา

การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นการรักษาด้วยยาตามอาการ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้ เพียงพอ ยาโอเซตามีเวียร์เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน

การป้องกัน

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยใช้หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เมื่อป่วยเป็นไข้ หรือมีอาการหวัดหรือเมื่อต้องเข้าไปในที่ชุมชน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคได้ร้อยละ 50-90 แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละหนึ่งครั้งสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยง

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 ชนิดและมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบบ่อยในเด็กโต วัยรุ่น และคนวัยทำงาน

อาการ

ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอยนาน 3-7 วัน หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตับโตและกดเจ็บ พบเลือดออกที่ผิวหนังและใน กระเพาะอาหารได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการรั่วของน้ำออกจากเส้นเลือด ทำให้มีภาวะเลือดข้น และเกิดอาการช็อกได้

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกอาศัยอาการของผู้ป่วยร่วมกับผลการตรวจเลือด การตรวจนับเม็ดเลือดจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดลดลง และอาจพบ ความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคไข้เลือดออกจริงที่นิยมใช้คือ การตรวจหาเอ็นเอส-1 การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ และการตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์

การรักษา

ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและให้การดูแลรักษาที่บ้านได้ ควรติดตามอาการกับแพทย์ทุก 1-2 วัน การรักษาผู้ป่วยประกอบด้วย การลดไข้ด้วยการเช็ดตัว และยาพาราเซตามอล และดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงโดยเฉพาะเมื่อไข้ลดลง เช่น ซึม มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ต้องรีบไปโรงพยาบาล

การป้องกัน

การป้องกันโรคไข้เลือดออกทำได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง วัคซีนไข้เลือดออกช่วยป้องกันโรคได้เกือบร้อยละ 70 หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงของ โรคได้ แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 45 ปี

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆที่สามารถเกิดได้ทุกฤดูกาลของประเทศไทย แต่มักจะพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคติดต่อเกี่ยวกับดวงตา มักเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก อาจด้วยการขยี้ตา หรือน้ำกระเด็นเข้าตา จะมีอาการคันตา ตาแดง เป็นโรคติดต่อได้ง่าย ป้องกันได้ด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

โรคฉี่หนู

ภาษาอังกฤษ : Leptospirosis มักเกิดในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งอาศัยของหนู อาการโดยทั่วไปคือปวดศีรษะ มีไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง ปวดบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ในบางรายอาจไตวายหรือช็อคได้ ป้องกันได้ด้วยการใส่รองเท้าบูทที่สามารถกันน้ำได้ และหลีกเลี่ยงการเดินเหยียบย่ำบริเวณที่น้ำขัง

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร 0-2256-4000