งานเสวนา
“ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า”
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดเสวนาเรื่อง “ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำนวัตกรรมการทำหมันสุนัขโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยมี ศ.นพสุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันอังคารที่ 20 มีนาคม 2561 ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายในงานมีหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจ ดังนี้
- สถานการณ์ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบัน โดย น.สพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- กลไกการเกิดโรค ถ้ามีอาการทำไมต้องเสียชีวิต และแบบแผนปฏิบัติการใช้วัคซีนและเซรุ่ม องค์การอนามัยโลก 2018 โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- นวัตกรรมการทำหมันหมาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดย ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- ประสบการณ์จริงจากการ “ฉีดไข่หมาแบบการุณย์” ที่ประสบความสำเร็จ มากกว่า 3000 ตัว
โดย สพ.ญ.นัยนา อภิชาติพันธุ์ นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญเทศบาลนครสมุทรปราการ พร้อมประจักษ์พยานจากประชาชนในพื้นที่ และเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่นำมาทำหมันโดยวิธีฉีดเข้าลูกอัณฑะ
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังงานเสวนา “ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า” ว่า “…วิกฤตโรคพิษสุนัขบ้าตอนนี้เกิดจากการไม่สามารถควบคุมประชากรสุนัขได้ ทำให้การฉีดวัคซีนในสุนัขไม่ได้ตามเป้าเช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขให้ได้ตามเป้าที่องค์การอนามัยโลกและองค์การระบาดสัตว์ระหว่างประเทศกำหนด แต่ที่จริงไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะถ้าบอกว่าทำหมันสุนัขได้ตามเป้า ฉีดวัคซีนได้ตามเป้าที่ร้อยละ 70-80 ทำไมยังมีสุนัขจรจัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมากกว่า 10 ล้านตัว ทำไมยังมีโรคพิษสุนัขบ้าระบาดจำนวนมาก บางพื้นที่พบหัวสุนัขมีเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงถึงร้อยละ 50 ตรงนี้ไม่ได้กล่าวหา แต่ดูจากข้อมูลที่ประกาศจริงๆ ซึ่งตนได้ตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงมีการระบาดเช่นกัน และพบว่าวัคซีนที่ใช้ก็มีปัญหาช่วงนี้ ซึ่งหากเทียบแล้วน่าจะเป็นการสะสมตั้งแต่รับวัคซีนช่วงก่อนหน้านั้นประมาณ 1-2 ปีหรือไม่ แต่สุดท้ายเรื่องก็ค่อยๆเงียบลง และสรุปผลออกมาอย่างนุ่มนวล แต่สุดท้ายในปี 2561 กลับพบว่าปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก…”