ไขความลับ ! ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ใหลตาย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดแถลงข่าว ไขความลับ … ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ใหลตาย จากการถอดรหัสพันธุกรรม ในคนไทยกว่า 750 คน ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่และการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ , ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษ ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ,พล.อ.ต.นพ.กัมปนาท วีรกุล อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ และ ผศ.นพ.สมชาย ปรีชาวัฒน์ หัวหน้าสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ สาขาวิชาหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมยาใจ ณ สงขลา อาคารหอพักและพัฒนา คณาจารย์ ชั้น 25 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีรายละเอียด ดังนี้
ใหลตาย หรือ sudden unexplained (unexpected) nocturnal death syndrome (SUND) ใช้เรียกการเสียชีวิตซึ่งเกิดขึ้นในขณะหลับ โดยมักมีอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก อาจเกิดเสียงร้องคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน และพบว่าเสียชีวิตใน ตอนเช้าวันถัดไป นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาในระดับชาติ เพราะเป็นโรคที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ทำให้ยากในการป้องกันและรักษา
ผศ.นพ.สมชาย ปรีชาวัฒน์ หัวหน้าสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ สาขาวิชาหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า อาการใหลตายใช้เรียกการเสียชีวิตขนาดหลับ โดยมักมีอาการหายใจไม่สะดวกอาจเกิดคล้ายการละเมอขนาดเสียชีวิต มักเกิดในผู้ชายภาคอีสานอายุระหว่าง 30-50 ปี เป็นโรคที่ฆ่าชีวิตคนไทยมาหลายชั่วอายุคน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของชายไทยรองจากอุบัติเหตุ ซึ่งที่มานั้นขาดงานวิจัย ปชช.จึงคิดวิธีรักษาตัวเองตามความเชื่อต่างๆ ว่ามาจากเรื่องของภูตผีปีศาจ เช่นการใส่ผ้าถุง การทาปากแดง ซึ่งที่ผ่านมาโรคดังกล่าวก็ไม่เป็นที่สนใจของประชาชนมากนัก จนกระทั่งมีการเสียชีวิตของชายไทยที่ไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์จำนวน 160 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายที่มาจากภาคอีสาน และมีประวัติพันธุกรรม 18-40 % จึงเชื่อมโยงได้ว่ามีกรรมพันธุ์บางอย่างกำหนดอยู่ และแม้ว่าดรคดังกล่าวจะเกิดได้ในเด็ก แต่ก็พบในวัยผู้ใหญ่ 30-50 ปีมากกว่า ซึ่งอาจจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมติดตัวมาตั้งแต่เด็ก แต่พึ่งมาออกอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และทางทีมวิจัยเองก็กำลังสนใจศึกษาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการวิจัยไม่ใช่การหลบหลู่ แต่เป็นการสะท้อนว่าผีแม่ม่ายไม่จริง ซึ่งมีงานวิจัยและกลไกลต่างๆที่ทำสำเร็จ ชัดเจนขึ้นเรื่อย
ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษ ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้บุกเบิกวิธีการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation) ผ่านสายจี้บริเวณจุดที่มีปัญหา ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี 3-Dimention electroanatomical mapping มาจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ เพื่อให้แพทย์มองเห็น การทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจได้ชัดเจน และค้นหาตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ช่วยลดจำนวนครั้งของการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วได้ ใน อดีตจะทำในผู้ป่วยที่เกิดการกระตุกของเครื่องช๊อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD) บ่อยครั้ง เนื่องจากมีหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วบ่อยๆ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและยืดอายุการทำงานของ AICD วัตถุประสงค์การรักษาแนวทางนี้ มุ่งรักษาโรคให้หายขาด ต่างจากการใส่เครื่องกระตุกหัวใจที่ ไม่ใช่ทางแก้ แต่เป็นการป้องกันการเสียชีวิตเท่านั้น วิธีการรักษาด้วยวิธีจี้หัวใจ นอกจากต้องอาศัย เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้ค้นหาตำแหน่งผิดปกติได้อย่างแม่นยำแล้ว ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่า คือทักษะและ ความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งในเมืองไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จำนวนไม่มาก
พล.อ.ท.นพ.กัมปนาท วีรกุล อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า จากการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นชายรายหนึ่งอายุ 37 ปี ซึ่งหมดสติประมาณ 5-6 ครั้ง และไปตรวจหลายโรงพยาบาลมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก และเมื่อนำมาตรวจร่างกายก็พบว่าผลการตรวจทุกส่วนมีความปกติ ยกเว้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คือมีอาการหัวใจระริก หากนอนไปอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหัวใจและมีวิธีการรักษาคือการให้ยาและการฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติเพื่อใช้กระตุ้นหัวใจให้มีการเต้นปกติ และจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่ได้รับการฝังเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ จะมีคลื่นไฟฟ้าปกติร้อยละ 90 และ ร้อยละ10-20 ของผู้เคยมีอาการจะเกิดอาการใหลซ้ำในปีถัดไป ทั้งนี้พบว่าการเต้นระริกของหัวใจสามารถหยุดเองได้ โดยคนไข้ไม่ตาย แต่ระยะเวลาเต้นที่นานไปอาจส่งผลให้คนไข้หมดสติ หรืออาจทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ ทั้งนี้พบว่าการฝังจะดีกว่าการให้ยา แต่ในขณะที่ทำการศึกษานั้นเครื่องมีราคา 4 แสนบาท ซึ่งแพงมาก แต่จากงานวิจัยทำให้ประกันสังคมเห็นถึงความสำคัญ และสามารถให้เบิกได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งหมดของมนุษย์ ประมาณ 3,000 ล้านเบส จึงนำมาใช้ในการถอดรหัสพันธุกรรมของการศึกษาในกลุ่ม ของผู้ป่วยโรคใหลตาย จำนวน 250 คน เปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของคนปกติ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันและเพศเดียวกัน จำนวน 500 คน เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า Big Data ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ นับเป็น “ครั้งแรก” ในการศึกษา เมื่อทราบส่วนเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมแล้วจะสามารถโยงไปหาสาเหตุได้ โดยเฉพาะการทำงาน และยีนที่เกี่ยวข้อง จะเป็นตัวบ่งบอกกลไกในการเกิดโรคได้ การศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยครั้งนี้ ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของประเทศ โดยเฉพาะรหัสพันธุกรรมของคนปกติที่มีร่างกาย แข็งแรง สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์เปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้ง สามารถพยากรณ์หาโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงนับว่าการถอดรหัสพันธุกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติของประเทศไทยที่มีประโยชน์และคุณค่าในอนาคต