เกาะติดสถานการณ์ “ไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่” แนวทางการดูแลผู้ป่วยและป้องกันตนเอง
วันที่ 28 มกราคม 2563 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายให้ความรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เรื่อง เกาะติดสถานการณ์ “ไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่” แนวทางการดูแลผู้ป่วยและป้องกันตนเอง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ รู้ทันสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า พร้อมแนวทางการป้องกัน ดูแลตนเองและผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง โดยมี ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายบริการ เป็นประธานเปิด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเป็นวิทยากรให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ ได้แก่
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย/แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง “ที่มาของเชื้อไวรัสโคโรน่าและอัพเดตสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในสาธารณรัฐประชาชนจีน”
พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง “แนวปฏิบัติในการดูแล ผู้ป่วยสงสัยโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”
ผศ.(พิเศษ)พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านชีวอนามัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง “Infection Prevention & Control”
และ รศ.(พิเศษ)นพ.กำพล สุวรรณพิมลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุมเฉลิม พรมมาส อาคาร อปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ทั้งนี้ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“… การรักษา ยืนยันว่า เชื้อไวรัสนี้ เป็นเหมือนไวรัสทั่วไป ถ้าภูมิคุ้มกันดีพอ มีหลายรายสามารถหายได้เอง แต่กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนอยู่แล้ว ส่วนการป้องกัน ใส่แค่หน้ากากอนามัยก็เพียงพอแล้ว ยกเว้น ถ้าไวรัสเล็กลง ก็อาจต้องใช้แบบ N95 … สิ่งที่ต้องทำคือ การให้ความรู้ประชาชน ว่าการมีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์นี้ ไม่ได้แปลว่ามีเชื้อแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย ข้อมูลส่วนใหญ่ที่แพทย์พบตอนนี้ คือ เป็นแล้วหายได้เอง ถ้าภูมิคุ้มกันดี โดยข้อมูลปัจจุบัน อัตราการตายโรคนี้เฉลี่ย 3-5% ถ้าเปรียบเทียบกับโรคซาร์ส หรือ เมอร์ส ที่มีอัตราการเสียชีวิตเยอะกว่า และการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยให้ลดการสัมผัสเชื้อได้….สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ จะมีเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เพราะอยู่ในพื่นที่เสี่ยงกับผู้ป่วย และมีการใกล้ชิดกับผู้ที่ไอ จาม โดยตรง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้แนะนำการป้องกันให้บุคคลากร ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด และมีชุดเฉพาะเหมือนชุดนักบินอวกาศ ซึ่งตอนนี้มีบุคคลมาขอตรวจเฉลี่ย 20-30 คน ต่อวัน และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีเยอะขึ้น แต่เท่าที่ตรวจก็ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ซึ่งผลตรวจจะออกแจ้งทางผู้ป่วย ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดปกติ กับ ไข้หวัดใหญ่…”