สัมมนาโครงการ “การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ระยะที่ 1)”
วันที่ 16 สิงหาคม 2562 ผศ.ดร.นพ.อัษฎาศ์ ลีฬหวนิชกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หัวหน้าโครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ระยะที่ 1) กล่าวรายงาน การสัมมนาเปิดโครงการ “การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ระยะที่ 1)” ซึ่งโครงการนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายในงานยังมีการบรรยายให้ความรู้ต่าง ๆ ได้แก่ วิวัฒนการของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย อ.ดร.เทอดพงษ์ แดงสี สัญญาณคลื่นจากเสาส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่อันตรายจริงหรือ? โดย ดร.มงคล มีสุข และ ผลของสัญญาณคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อระบบประสาท โดย อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิโมทัย ณ ห้องประชุม 1216 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ทั้งนี้ โครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ระยะที่ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการดำเนินงานศึกษา รวบรวมกลุ่มตัวอย่าง จากประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และ 5G ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ เช่น หนู ไก่ กระต่ายและสุนัข เป็นต้นซึ่งนำมาเลี้ยงภายใต้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระดับความเข้มหรือความหนาแน่น 5 เท่าและ 10 เท่า ของระดับมาตรฐาน หรือค่าเฉลี่ยเพื่อหาความผิดปกติของสมอง ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันโรค และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ที่มาจากสัตว์ เพื่อจัดทำรายงานสรุปในการป้องกันลดผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และจัดทำแผนการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ ในระยะ 10 ปี อีกทั้งหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง สามารถนำผลการศึกษาที่เชื่อถือได้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ