วัณโรค โรคติดต่อที่ป้องกันและรักษาได้

วัณโรค โรคติดต่อที่ป้องกันและรักษาได้

วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อมัยโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส ซึ่งติดต่อกันได้ทางการหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าไป จากการไอ จาม

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูง มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 10,000 คนต่อปี

องค์การอนามัยโลกคาดว่าอาจมีผู้ป่วยวัณโรค 150 คน ต่อประชากร 100,000 คน และผู้ป่วยรายใหม่  100,000 คนต่อปี

วัณโรคปอดมีอาการเป็นอย่างไร

  • ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
  • ไอมีเลือดปน
  • ไข้เรื้อรัง และมีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
  • เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลด

หากมีอาการดังกล่าว ควรรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด

การวินิจฉัยวัณโรค

  • ตรวจหาเชื้อวัณโรคโดยการย้อมเสมหะ 2 ครั้ง หรือการตรวจทางอณูชีววิทยาที่มีความไวมากขึ้น
  • เอกซเรย์ปอด

วัณโรครักษาได้อย่างไร

  • วัณโรคปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
  • ไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด เมื่อรับประทานยาไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแต่ห้ามหยุดยาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาจนยากต่อการรักษา
  • หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ยาหรือมีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์
  • ขณะรักษาวัณโรค ควรงดเหล้า บุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด
  • ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

วัณโรคที่ไม่ดื้อยาใช้เวลาในการรักษานาน 6 เดือน โดยควรมีผู้ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เเต่ถ้ากินยาไม่สม่ำเสมออาจทำให้เกิดวัณโรคดื้อยาหลายขนานได้ และจะต้องปรับเป็นสูตรดื้อยาที่มีผลข้างเคียงมากขึ้น ราคายาสูงขึ้น เเละต้องกินยานานขึ้น

วัณโรคป้องกันได้

  • เราสามารถป้องกันตนเองจากวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ภูมิต้านทานแข็งแรงต่อสู้กับเชื้อได้
  • หากต้องเข้าไปในสถานที่แออัด หรือมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย
  • ผู้ที่มีอาการไอหรืออาการระบบทางเดินหายใจ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด
  • หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยวัณโรค หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม

เรื่อง : รศ.นพ. กำพล สุวรรณพิมลกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2566