เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด รักษาต้อกระจก แห่งเดียวในไทย แห่งแรกในอาเซียน


ปัจจุบันความตื่นตัวต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยนั้นถือเป็น เรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคและภาวะต่างๆที่เกิดจากความเสื่อมถอย ในผู้สูงอายุหนึ่งในภาวะนั้นก็คือ “ต้อกระจก” ซึ่งเป็นภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัว แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทําให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพได้ไม่ชัดหรือพร่ามัว ทั้งนี้จากสถิติอุบัติการณ์ต้อกระจกในประเทศไทย พบต้อกระจกชนิดที่ทําให้ตาบอดเกิดใหม่ปีละ 60,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและในปัจจุบันพบผู้ป่วยที่อายุต่ํากว่า 60 ปี มีภาวะต้อกระจกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยนําร่องที่เข้ารับบริการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559 มีอายุเฉลี่ยในวัยเพียง 30 เศษเท่านั้น

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล็งเห็นถึงความสําคัญของการรักษาต้อกระจกอย่างครบวงจร  ด้วยการผ่าตัดที่มีความแม่นยําสูงสุด จึงได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการรักษาต้อกระจ เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้จัดงานแถลงข่าว ณ บริเวณชั้นล่าง อาคาร สธ (อาคารเพื่อผู้สูงอายุ) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2560 นําโดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อํานวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าภาควิชา/ฝ่ายจักษุวิทยา รศ.(พิเศษ) นพ.ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์ อาจารย์ประจําฝ่ายวิชาจักษุวิทยา และ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์ เลเซอร์สายตา พร้อมด้วย นางพรทิพย์ ควรคิด หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมแถลงข่าวด้วย

รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวว่า เพราะความแม่นยําคือหัวใจของเทคโนโลยีการรักษาต้อกระจกซึ่งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่ได้นําร่องผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นชุดเครื่องมือ (Suite) เรียกว่า CataractSuite & Laser Aberrometer มีมูลค่าทั้งชุดสูงถึง 30 ล้านบาท ประกอบด้วยเครื่องมือ 4 ชุดที่มีความแม่นยําในการรักษาทุกขั้นตอน ได้แก่

    1. ชุดเครื่องมือวิเคราะห์ วางแผนก่อนการผ่าตัด และกําหนดตําแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล เครื่องนี้จะช่วยในการวัดค่าต่างๆได้อย่างแม่นยําและเก็บข้อมูลที่จําเป็นสําหรับการผ่าตัดอาทิ สัดส่วนดวงตาความผิดปกติที่จุดศูนย์กลางรับภาพ ภาพถ่ายเส้นเลือดรอบดวงตา ค่าความโค้งกระจกตา ฯลฯ
    2. เครื่องเลเซอร์ต้อกระจก (Femtosecond Laser) คุณสมบัติที่สําคัญของเครื่องนี้คือ สามารถฉายแสงเลเซอร์ลงไปบนกระจกตาตามตําแหน่งที่กําหนดไว้ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยํา โดยเลเซอร์จะตัดถุงเยื่อหุ้มเลนส์ตาด้านหน้าและตัดเนื้อเลนส์ตาเป็นชิ้นเล็กไว้ล่วงหน้า เพื่อลดพลังงานที่จะใช้จากเครื่องผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และยังสามารถใช้เลเซอร์ตัดกระจกตาแทนการใช้ใบมีดได้ด้วย แพทย์จะใช้เครื่องนี้เข้ามาช่วยเสริมในบางขั้นตอนของการผ่าตัดต้อกระจกตามวิธีมาตรฐานที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการสลายเลนส์ตาที่ขุ่นมัวและดูดออก
    3. เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification Machine) ที่เชื่อมต่อการควบคุมกับเครื่อง Digital Marking System ที่เป็นระบบดิจิตอลช่วยให้การวางเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้สายตาเอียง แม่นยําขึ้นและฉายภาพการควบคุมขั้นตอนต่างๆ ของการผ่าตัดต้อกระจกในกล้องผ่าตัดของจักษุแพทย์ได้
    4. เครื่องตรวจวัดค่าสายตาระหว่างการผ่าตัดแบบเรียลไทม์ (Laser Aberrometer) เครื่องนี้ถือเป็นไฮไลท์ของการรักษาทันสมัยและโดดเด่นด้วยความสามารถในการวัดค่าสายตาระหว่างการผ่าตัดได้ทั้งก่อนใส่ และหลังใส่เลนส์แก้วตาเทียม ช่วยในการแนะนําองศาของเลนส์ กําลังของเลนส์ และยืนยันตําแหน่งของเลนส์ได้อย่างแม่นยําสูงสุด ทําให้แพทย์สามารถเลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับปัญหาสายตาของผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีค่าสายตาใกล้เคียง 0 หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยเทคโนโลยีนี้จะเพิ่มเวลาในการผ่าตัดสลายต้อกระจกอีกเพียงแค่ 1-2 นาทีเท่านั้น (จากปกติจะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 10-20 นาที) เป็นบริการพิเศษที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่ารักษาพยาบาลปกติแต่อย่างใด และเชื่อว่ามีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่มีสายตาสั้น หรือยาวมาก และในผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนในการวัดเลนส์

เพราะความแม่นยำ คือหัวใจของเทคโนโลยีการรักษาต้อกระจก

รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าใช้จ่ายสําหรับการรักษาต้อกระจก

ในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ต้องใช้ในการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์และชนิดของเลนส์เทียม แต่สําหรับผู้ป่วยบางรายที่ต้องใช้เครื่องเลเซอร์ต้อกระจก (Femtosecond Laser) จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพียง 15,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่ารักษาที่ต่ำที่สุดของการใช้เครื่องเลเซอร์ต้อกระจกในโรงพยาบาลของประเทศไทย

รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวถึงประโยชน์ของการรักษาต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนี้ว่า ทําให้ความแม่นยําในการผ่าตัด การเลือกเลนส์แก้วตาเทียมและผลการผ่าตัดดีขึ้น สําหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาได้ที่อาคาร ภปร (ชั้น 11) ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 16.00 น. และคลินิกนอกเวลาตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 20.00 น. และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่ เวลา 08.00 น. – 12.00 น.

เพราะดวงตามีความสําคัญต่อทุกชีวิต การให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นโลกที่สดใสได้อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นพันธกิจสําคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย