สุขภาพดี ด้วยการบริจาคโลหิต
โลหิต ประกอบ ด้วยส่วนน้ำเหลือง (พลาสมา) และ ส่วนเม็ดเลือด โดยมีไขกระดูก เป็นอวัยวะที่สร้างเม็ดเลือด ทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรค และเกล็ดเลือดซึ่งช่วยห้ามเลือดเวลามีเลือดออก
เม็ดโลหิตแต่ละชนิดมีอายุการทำงาน คือ เม็ดเลือดแดง มีอายุ 120 วัน เม็ดเลือดขาว มีอายุ 13-20 วัน และเกล็ดเลือด มีอายุ 7-10 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าวเม็ดเลือดจะค่อยๆเสื่อมสภาพลง และเมื่อหมดอายุจะถูกกำจัดออกไปโดยกลไกของร่างกาย ไขกระดูกจะสร้างเซลล์เม็ดเลือดชุดใหม่ที่มีสภาพดี ขึ้นมาทดแทนโดยไม่มีวันหมด ดังนั้นการบริจาคโลหิต ซึ่งนำเลือดออกจากร่างกายประมาณ 350-450 มิลลิลิตร จากทั้งหมดประมาณ 5 ลิตร จึงเป็นเพียงการนำโลหิตสำรองออกมา โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ร่างกาย เพราะไขกระดูกสามารถสร้างโลหิตขึ้นมาทดแทน
การบริจาคโลหิตนอกจากจะเป็นการทำบุญ ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ทำให้ผู้บริจาคมีจิตใจที่สดชื่นเบิกบานแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์แก่สุขภาพของผู้บริจาคโลหิตหลายอย่างด้วยกัน เช่น
- ร่างกายได้สร้างเม็ดเลือดใหม่ ๆ ซึ่งแข็งแรงและทำงานได้ประสิทธิภาพกว่าเดิม ทำให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ เม็ดเลือดขาวทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น และเกล็ดเลือดซ่อมแซมรอยฉีกขาดของหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ลดความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มีการวิจัยพบว่า การบริจาคโลหิตช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และ ลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เฉียบพลันในเพศชายได้ การบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ธาตุเหล็กสะสมในร่างกายลดลง โดยธาตุเหล็กนี้อาจก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันได้
- ลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดแดงตีบ มีการวิจัยพบว่าการเจาะเลือดออกเป็นประจำ จะช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาล และ ทำให้สัดส่วนไขมันดีต่อไขมันไม่ดี ดีขึ้น ในคนที่มีกลุ่มอาการทางเมตาโบลิก ซึ่งจะมีความดันสูง น้ำตาลสูง และ ไขมันสูง
- ได้ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 3 เดือน เช่น การวัดความดันโลหิต การตรวจภาวะโลหิตจาง
- ทำให้ทราบหมู่โลหิต ทั้งระบบ A B O และระบบ Rh
- ผู้ที่บริจาคโลหิตจำเป็นต้องปฎิบัติตัว โดยงดเว้นพฤติกรรมเสี่ยงต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี, ไวรัสตับอีกเสบ ซี, ซิฟิลิส และเอดส์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริจาคเอง และ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับ นอกจากนี้ ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจเชื้อเหล่านี้ทุกครั้ง เพราะโลหิตทุกยูนิตที่ได้รับ การบริจาคต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเชื้อต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ การที่ผู้บริจาคทราบว่าตนเองมีการติดเชื้อเหล่านี้จะมีประโยชน์มาก เพราะเชื้อทุกตัวมียารักษาได้
- ได้รับการตรวจสารเคมีในโลหิต (บริการตรวจให้ปีละ 1 ครั้ง) แจ้งความจำนงค์ที่แพทย์ผู้ตรวจวัดความดันโลหิต ในวันทำการจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:00 – 10:00 น. โดยต้องงดอาหารและน้ำหลัง 20:00 มาก่อน
สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย หรือตามหน่วยเคลื่อนที่ ต่าง ๆ
โทร 0-2252-1637, 0-2263-9600-99 ต่อ 1770, 1771, 1760, 1761