ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคติดเชื้อ

  Excellence Center for Infectious Diseases

ดูแลรักษาโรคเฉพาะทางอายุรศาสตร์เขตร้อน โรคเอดส์
และโรคติดเชื้อที่พบในผู้ป่วยของอายุรศาสตร์สาขาอื่น ๆ

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการรักษาโรคติดเชื้อเสมอมา จึงมีบริการการรักษาที่เหมาะสมสามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง โดยทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการรักษาร่วมกับสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางอายุรศาสตร์เขตร้อน (มาลาเรีย เลปโตสไปโรซิส ไทฟอยด์ พาราไทฟอยด์ ริคเก็ตเซีย พยาธิลำไส้ ฯลฯ) โรคเอดส์ ซึ่งพบสัดส่วนการเข้ารักษามากเป็นลำดับต้น ๆ ของคลินิก และโรคติดเชื้อที่พบในผู้ป่วยของอายุรศาสตร์สาขาอื่น ๆ ซึ่งการตรวจสอบเชื้อต่าง ๆ ที่เป็นที่มาของโรคได้รับความร่วมมือจากภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาปรสิตวิทยา และการศึกษาวิจัยของทีมนักวิจัยภายในศูนย์ฯ เพื่อให้การวินิจฉัย และการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วได้มาตรฐานการรักษา 

เจตจำนง

ศูนย์โรคติดเชื้อแห่งนี้ทำงานภายใต้หลักคิดที่ว่า “Treatment as a Prevention” หรือการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ป่วยรายใหม่

ภาระหน้าที่

ภาระหน้าที่สำคัญของศูนย์ นอกจากการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ยังมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดกับบุคคลทั่วไปต่อการป้องกันโรคที่พบบ่อยอย่าง HIV ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างเหมาะสมผ่านการรณรงค์ใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดปริมาณของผู้ป่วยรายใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ทั้งในทางสาธารณสุขและสังคมส่วนรวม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ 


ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดำเนินงานการรักษาร่วมกับสาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อยู่ภายใต้ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย /ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การให้บริการของศูนย์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการรักษาโรคติดเชื้อเสมอมา จึงมีบริการการรักษาที่เหมาะสมสามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง โดยทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการรักษาร่วมกับสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดูแลรักษาโรคเฉพาะต่าง ๆ อาทิ

  1. โรคเฉพาะทางอายุรศาสตร์เขตร้อน (มาลาเรีย เลปโตสไปโรซิส ไทฟอยด์ พาราไทฟอยด์ ริคเก็ตเซีย พยาธิลำไส้ ฯลฯ) 
  2. โรคเอดส์ ซึ่งพบสัดส่วนการเข้ารักษามากเป็นลำดับต้น ๆ ของคลินิก
  3. โรคติดเชื้อที่พบในผู้ป่วยของอายุรศาสตร์สาขาอื่น ๆ

ซึ่งการตรวจสอบเชื้อต่าง ๆ ที่เป็นที่มาของโรคได้รับความร่วมมือจากภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาปรสิตวิทยา และการศึกษาวิจัยของทีมนักวิจัยภายในศูนย์ฯ เพื่อให้การวินิจฉัย และการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วได้มาตรฐานการรักษา 

อีกทั้งศูนย์ฯ ได้จัดทำโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโครงการเอดส์แห่งชาติ (National AIDS Program; NAP) การตรวจหายีนดื้อยา (drug resistance) และการศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษา HIV อย่างต่อเนื่องร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี เพื่อมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ให้เกิดจากการต่อยอดการรักษาที่เที่ยงตรง ด้วยการสร้างฐานข้อมูลการวิจัยจากพันธุกรรมจากโครงสร้างของผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้คาดว่าผลที่ได้รับจากโครงการจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนไข้ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศได้ นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคติดเชื้อ ยังให้การสนับสนุนและพัฒนางานวิจัย ตามแผนยุทธศาสตร์ และเป้าหมายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดำเนินงานด้านการบริการผู้ป่วยควบคู่ไปกับการทำงานวิจัย 

ในด้านงานวิจัย ศูนย์ฯ มีความสนใจและให้ความสำคัญกับปัญหาโรคติดเชื้อที่เกิดจากการอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำของการเกิดโรคที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น เช่น การติดเชื้อไข้เลือดออก (dengue virus), การติดเชื้อ leishmania, การติดเชื้อวัณโรค รวมไปถึงเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ทางศูนย์ฯ จึงให้การสนับสนุนงานวิจัยของบุคลากรภายในศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นความรู้ซึ่งจะนำมาใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัย ดูแลและรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น อาทิ 

  • โครงการศูนย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์และกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ เพื่อให้สามารถลดระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อก่อโรคในผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้นจากเดิม ซึ่งจากเดิมใช้วิธีเพาะเชื้อ ต้องรอผลนานเป็นสัปดาห์ มาเป็นการย้อมสีซึ่งจะทราบผลภายใน 10 – 30 นาที ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ทำการเปิดห้องปฏิบัติการเป็นที่ฝึกสอนสำหรับการย้อมสีและดูกล้องแก่นักเรียนแพทย์ด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการย้อมหา dsRNA ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อนส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในทางเดินหายใจได้ เพื่อให้สามารถเลือกใช้และปรับยาปฏิชีวนะได้อย่างรวดเร็ว ลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น

  • งานวิจัยที่นำเทคโนโลยี Oxford Nanopore Sequencing มาใช้ในการวินิจฉัยเชื้อก่อโรค หายีนดื้อยา และสืบสวนการระบาดของเชื้อดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว เป็น real-time sequencing 

  • งานวิจัยการควบคุมเชื้อดื้อยา Acinetobacter baumannii ด้วยไวรัส (bacteriophage) เพื่อใช้ควบคุมและเป็นการรักษาทางเลือกในอนาคต

  • งานวิจัยการปลูกถ่ายจุลชีพจากลำไส้เพื่อควบคุมเชื้อดื้อยาซีอาร์อี (Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae, CRE) โดยนักวิจัยของศูนย์ฯ กำลังทำการศึกษาโดยการเก็บอุจจาระจากอาสาสมัครสุขภาพดี มาทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นเพื่อหาเชื้อดื้อยา Extended-spectrum beta-lactamase (ESBL) ก่อนนำจุลชีพที่ไม่มีเชื้อดื้อยา ESBL ไปทำการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่มี CRE colonization

บุคลากรภายในศูนย์ฯ สามารถผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับ ตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งนี้ศูนย์ฯ ยังให้การฝึกอบรม และพัฒนาการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต บัณฑิตศึกษา และหลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง สามารถเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมระดับชาติและนานาชาติได้อีกด้วย


วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 5 โซน C

เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์  เวลา 08.00 – 16.00 น 

คลินิกโรคติดเชื้อ ประญัติ ลักษณะพุกก์ อาคาร ภปร ชั้น 14

เปิดให้บริการทุกวันพุธ เวลา 13.00 – 16.00 น

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อศูนย์

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคติดเชื้อ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 5 โซน C

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 80506, 80507

เฟซบุ๊กหน่วยงาน