ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤติ
Critical Care Excellence Center
ให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤติในด้านต่าง ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านผู้ป่วยวิกฤติในด้านต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โดยมีภารกิจสำคัญ ดังนี้
- ด้านบริการ เพื่อให้มีการจัดการให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤติให้ได้มาตรฐานสูงสุด ตามหลักฐานเชิงประจักษ์และมีผลลัพธ์ของการดูแล
ผู้ป่วยที่สามารถเทียบเคียงกับสถานพยาบาลในระดับสากลได้ มีการติดตามผลและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง - พัฒนาการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติ สำหรับแพทย์ทั้งระดับบัณฑิตศึกษาและหลังปริญญา แพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้านเวชบำบัดวิกฤติ พยาบาลและพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤติ รวมถึงบุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ เช่น
นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ เภสัชกร รวมถึงการจัดบริการวิชาการ เช่น การจัดการประชุมวิชาการ การจัดการอบรมสัมมนาด้านเวชบำบัดวิกฤติ - องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ มีการส่งเสริมให้เกิดวิจัยด้านผู้ป่วยวิกฤติอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์พื้นฐานให้สามารถส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่สามารถนำไปช่วยในการแก้ไข พัฒนาการดูแลผู้ป่วยได้
เจตจำนง
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเวชบำบัดวิกฤติ พัฒนางานด้านผู้ป่วยวิกฤติในด้านต่าง ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญที่มุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ โดยยุทธศาสตร์ทั้งสามส่วนจะมีการเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จและยั่งยืนขององค์กร ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : พัฒนาการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้ได้มาตรฐานระดับสากล
ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์: ผลการรักษาของผู้ป่วยภาวะวิกฤติในภาวะต่าง ๆ เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ในระดับสากล เช่น ผู้ป่วย severe sepsis/septic shock, acute respiratory distress syndrome อัตราการเกิดการติดเชื้อใน ICU หรืออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงเฉียบพลัน
1.1 มีการจัดระบบสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ โดยทำเป็นโครงการพิเศษที่มีการทำงานร่วมกันโดยทีมสหสาขา มีการสนับสนุนกำลังคน ทรัพยากร และงบประมาณ ในขั้นต้นได้ทำ
- โครงการพัฒนาการช่วยชีวิตขั้นสูงด้วยเครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) (โครงการย่อยที่ 1)
- โครงการระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนวิกฤติในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (rapid response system) (โครงการย่อยที่ 2)
- โครงการพัฒนาการดูแลแบบ Palliative care in ICU (โครงการย่อยที่ 4)
1.2.การพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤติเฉพาะเรื่อง มีการจัดตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการดูแลและติดตามผลการดูแล กลุ่มโรคหรือหัตถการที่พบบ่อย ได้แก่
- Severe sepsis/ septic shock
- ARDS
- Weaning protocol
- Sedation/ delirium protocol
1.3 มีการบริหารจัดการและวางแผนทรัพยากรสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ
- การวางแผนและจัดระบบการใช้เตียงที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ลดระยะเวลาการรอคอย
- ร่วมมือกับศูนย์เครื่องมือแพทย์ และฝ่ายสนับสนุนบริการในการวางแผนอุปกรณ์และยาให้พร้อมใช้ ได้มาตรฐาน
- ร่วมมือกับฝ่ายกายภาพเพื่อพัฒนาโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของหอผู้ป่วยวิกฤติให้ปลอดภัย และเอื้อต่อการเยียวยา
1.4 การร่วมพัฒนาและวางแผนการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในแต่ละฝ่าย/ภาควิชา
- การร่วมมือกับฝ่าย/ภาควิชาอายุรศาสตร์ วิสัญญีวิทยา และกุมารเวชศาสตร์ ในการจัดตั้งและพัฒนาสาขาวิชาเวชบำบัดวิกฤติให้มีความเป็นต้นแบบและมีความยั่งยืน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติทุกด้าน และส่งเสริมให้มีการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ
ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์: มีการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรหลังปริญญาที่ได้มาตรฐาน มีการฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤติ และการฝึกอบรมบุคลากรทั่วไป เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการประเมินและดูแลขั้นต้นสำหรับผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ
2.1 การพัฒนาเนื้อหารายวิชาและการเรียนการสอนด้านเวชบำบัดวิกฤติในหลักสูตรปริญญาแพทยศาสตร์ บัณฑิต/ บัณฑิตศึกษา ทั้งในส่วนที่เป็นวิชาบังคับ การเพิ่มวิชาเลือก และการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับสถาบันต่างประเทศ
2.2 การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้านเวชบำบัดวิกฤติ จัดตั้งคณะกรรมการหลักสูตรที่รับผิดชอบ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผู้สำเร็จการฝึกอบรมเป็นผู้นำในระดับประเทศ
2.3 การให้ความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติให้กับบุคลากรสหสาขาวิชาชีพ การจัดการอบรมพื้นฐานการดูแลด้านผู้ป่วยวิกฤติให้กับบุคลากร การจัดการประชุมวิชาการร่วมของทีมสหสาขาที่ทำงานด้านเวชบำบัดวิกฤติของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การพัฒนาหลักสูตรสำหรับบุคลากรเฉพาะทางด้านเวชบำบัดวิกฤติ และการพัฒนาการฝึกอบรมเฉพาะเรื่อง เช่น CRRT, ECMO
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3: การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ โดยใช้การวิจัยและการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ
ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์: มีองค์ความรู้ใหม่ที่ตรงกับบริบทของผู้ป่วยในประเทศไทย สามารถนำไปทำให้เกิดนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยในสังคมไทยได้จริง และเกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในการดูแล
3.1 สร้างระบบฐานข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยใช้ระบบโรงพยาบาลเป็นแกนหลักและกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อและการจัดเก็บร่วมกันในทุก ICU รวมถึงการกำหนดมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่จะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลกับระบบฐานข้อมูลหลักได้ โดยมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล ฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อกำหนดตัวแปรที่สนใจ การบันทึก การนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และสังเคราะห์หาองค์ความรู้ใหม่ (โครงการย่อยที่ 3)
3.2 การสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดการสร้างงานวิจัยด้านเวชบำบัดวิกฤติ สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยด้านเวชบำบัดวิกฤติของฝ่าย/ภาควิชา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศ medical innovation ในการพัฒนานวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ และร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติมีสำนักงานกลางในการสนับสนุนและประสานความร่วมมือของหน่วยงานย่อยในฝ่ายต่าง ๆ และหอผู้ป่วยใน 13 แห่ง อาทิ หอผู้ป่วยวิกฤติอายุรกรรม หอผู้ป่วยวิกฤติสูตินรีเวช หอผู้ป่วย NS ICU เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนการทำงานภายในศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- ฝ่ายบริการทางคลินิก (Service)
มีบทบาทในการดูแลการรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทั้งก่อนเข้า ระหว่างเข้าและหลังเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติ ผลงานจากฝ่ายบริการทางคลินิก เช่น การพัฒนาระบบการช่วยชีวิตขั้นสูงด้วยเครื่องพยุงปอดและหัวใจ/การดำเนินการจัดตั้งระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนวิกฤติในโรงพยาบาล/การพัฒนาการดูแลที่ได้มาตรฐานในหอผู้ป่วยวิกฤติ เป็นต้น - ฝ่ายฝึกอบรม (Teaching)
การพัฒนาการเรียนการสอนในทุกระดับ ทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญาแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอดการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์แบบสหสาขาวิชาชีพ ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติเพื่อนำไปต่อยอดการรักษาให้เกิดผลสูงสุด โครงการการสอนที่โดดเด่นมากของฝ่ายฝึกอบรม คือ การฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมอายุรแพทย์ปลูกถ่ายไตหลักสูตร 1 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ - ฝ่ายพัฒนาและวิจัย (Research)
ดูแลด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วยในห้อง ICU ให้ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล
ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ
การให้บริการของศูนย์
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือ Critical Care Excellent Center ถือเป็นอีกหนึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อพัฒนาการรักษาแบบสหวิชาชีพให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีบุคลากรดูแลผู้ป่วยซับซ้อน และรับรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤติจำนวนมาก ตามสถิติแล้วในแต่ละปีมีผู้ป่วยวิกฤติเข้ามาทำการรักษาถึงปีละราว 10,000 ราย
วัน เวลา และสถานที่ให้บริการ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชบำบัดวิกฤติ เปิดบริการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 07.30 – 16.30 น. ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 18 โซน C
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเวชบำบัดวิกฤติ
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 18 โซน C
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 649 4000 ต่อ 81825