โรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ต้องอาศัยการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว เฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและให้การรักษาอย่างเหมาะสม โรคนี้พบบ่อยในฤดูฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 ชนิดและมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่อายุน้อย

อาการของผู้ป่วย

อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่สำคัญคือ ไข้สูงลอยนาน 3-7 วัน หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตับโตและกดเจ็บ และพบเลือดออกที่ผิวหนังและในกระเพาะอาหารได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการรั่วของน้ำออกจากเส้นเลือด ทำให้มีภาวะเลือดข้นและเกิดอาการช็อกได้ การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกอาศัยอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจนับเม็ดเลือดและการตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออก

การรักษา

  1. การดูแลรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถให้การดูแลรักษาที่บ้านได้ ควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ทุก 1-2 วันเพื่อติดตามอาการ การดูแลผู้ป่วยประกอบด้วย การลดไข้ด้วยการเช็ดตัวและกินยาลดไข้ รับประทานอาหารอ่อน และดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้ป่วยที่มีอาการโดยทั่วไปแย่ลงโดยเฉพาะเมื่อไข้ลดลง เช่น ซึม มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ต้องรีบไปโรงพยาบาล
  2.  การรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ ปวดท้องหรืออาเจียนมาก มีภาวะเลือดข้น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือมีภาวะช็อก ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

การป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำ
  2. วัคซีนไข้เลือดออก แนะนำในเด็ก (อายุ 9 ปีขึ้นไป) และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซึ่งมักมีอาการรุนแรง

สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

แผนกอายุรศาสตร์คลินิกเฉพาะโรค อาคาร ภปร ชั้น 3
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย