วัคซีนโควิด-19 สร้างภูมิต้านทานได้ดีมาก เทียบเท่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ติดเชื้อมาแล้ว


ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วไป บางส่วนยังมีความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้งาน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้นำข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนให้ได้รับทราบกัน ดังนี้

วัคซีน Sinovac กระตุ้นสร้างภูมิต้านทานโรคตรวจพบได้ถึง 99.4%


หนึ่งในวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นตัวแรกๆ ได้แก่ วัคซีน Sinovac ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกทำการศึกษาร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน โดยในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์พบว่า 4 สัปดาห์ภายหลังจากการรับวัคซีนจนครบแล้ว ตรวจพบระดับภูมิต้านทานต่อสไปค์โปรตีนหรือหนามแหลมได้ถึง 99.4% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ตรวจพบภูมิต้านทาน 92.4% จะมีระดับภูมิต้านทานสูงเท่าเทียมกัน จึงจะเห็นได้ว่าวัคซีนสามารถสร้างภูมิต้านทานได้อย่างพึงพอใจและภูมิต้านทานขึ้นได้เท่าเทียมกับผู้ที่หายจากการติดเชื้อแล้ว 4 – 8 สัปดาห์

วัคซีน AstraZeneca เข็มเดียว ภูมิต้านทานโรคตรวจพบถึง 96.7%


ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จาก AstraZeneca ที่น􀄞ำมาใช้งานในประเทศไทย ศ.นพ.ยง เปิดเผยว่ามีรายงานเบื้องต้นจากการศึกษาผู้ได้รับการฉีดวัคซีน หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นระยะเวลา 1 เดือน มีการตรวจพบภูมิต้านทานได้ถึง 96.7% อีกทั้งยังพบว่าเพศหญิงมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าเพศชาย รวมถึงผู้ได้รับวัคซีนอายุต่ำกว่า 60 ปี มีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าผู้ได้รับวัคซีนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

วัคซีนที่ทดสอบต่างกันย่อมไม่สามารถเปรียบประสิทธิภาพกันได้
แม้ตัวเลขตรวจพบและปริมาณภูมิต้านทานของวัคซีนที่มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในประเทศไทยจะเป็นตัวเลขที่สูงเท่าเทียมกับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ แต่ ศ.นพ.ยง ได้อธิบายว่า ระดับภูมิต้านทานของวัคซีนเหล่านี้ย่อมไม่สามารถนำตัวเลขเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนของยี่ห้ออื่นในต่างประเทศ

การศึกษาประสิทธิภาพป้องกันโรคต้องทำการศึกษาจริงในแหล่งระบาดและพิจารณาว่ามีการติดเชื้อเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดหรือวัคซีนหลอก ประสิทธิภาพในการศึกษาของวัคซีนได้ผลต่างกันมีปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. ความชุกของโรคในขณะทำการศึกษา หากขณะที่ทำการศึกษามีความชุกของโรคสูง ตัวเลขประสิทธิภาพย่อมมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่า เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ในช่วงที่มีการระบาดต่ำกว่าช่วงเวลาที่มีการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน Johnson and Johnson ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุด
  2. ประชากรที่ใช้ในการศึกษา กล่าวคือ หากใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงย่อมมีแนวโน้มให้ตัวเลขชี้วัดประสิทธิภาพต่ำกว่าการศึกษาในประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น วัคซีน Sinovac ทำการศึกษาในประเทศบราซิล มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ย่อมมีอัตราได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า
  3. ความรุนแรงของโรคในระดับต่างๆ ในการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้ออาจมีการจำกัดขอบเขตนิยามในการเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมระดับความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป เช่น หากวัคซีนชนิดหนึ่งทำการทดสอบโดยครอบคลุมถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีความรุนแรง มีอาการตามหลักการขององค์การอนามัยโลกในระดับ 2 คือ ผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการแต่ยังไม่ต้องการการรักษา ในขณะที่วัคซีนอีกชนิดหนึ่งครอบคลุมถึงเฉพาะผู้ที่มีอาการตามหลักการขององค์การอนามัยโลกในระดับ 3 คือ ผู้ป่วยเป็นแบบผู้ป่วยนอกไม่ต้องการนอนโรงพยาบาลแต่ต้องพบแพทย์ อัตราประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดแรกย่อม
    ต่ำกว่าชนิดที่ 2
  4. สายพันธุ์ของไวรัส ในสถานการณ์ที่ไวรัสกลายพันธุ์และมีประสิทธิภาพในการหลบหลีกวัคซีนได้มากกว่าย่อมทำให้ตัวเลขประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนที่มีการทดสอบในช่วงเวลาก่อนหน้าที่สายพันธุ์ของไวรัสยังไม่ได้วิวัฒนาการมากนัก

จากข้อมูลวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยสามารถกระตุ้นสร้างภูมิต้านทานได้ดี ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ศ.นพ.ยง จึงมีความเห็นว่าควรเร่งดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและประชากรหมู่มากต่อไป