Chula Cov19 Vaccine


เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทยในการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 โดยแพทย์และนักวิจัยชาวไทย เมื่อศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มการทดสอบการฉีดวัคซีนให้แก่อาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองเป็นครั้งแรกจำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่จะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยในการรับมือกับโรคโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนไทยและนานาชาติให้ประจักษ์ถึงศักยภาพของแพทย์และนักวิจัยชาวไทยที่สามารถผลิตวัคซีนได้เอง

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ChulaCov19 เป็นวัคซีน Messenger RNA รุ่นแรกที่คิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Prof. Drew Weissman ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริการวมไปถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความร่วมมือจากภาคเอกชน
อาทิ โรงงานผลิตวัคซีนทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงเงินสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์และกองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย ท􀄞ำให้การทดลองวัคซีนขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง

หลังจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการทดลองวัคซีนในสัตว์ทดลอง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา จึงดำเนินการผลิตวัคซีนตามมาตรฐาน GMP สำหรับนำมาใช้และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้แก่อาสาสมัครที่ผ่านการคัดกรองจำนวน 72 คน จากจำนวนผู้สมัครกว่า 10,000 คน โดยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ อาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี และอายุระหว่าง 65-75 ปี กลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่มข้างต้นนี้จะได้รับวัคซีนทีละกลุ่มในปริมาณโดสของวัคซีนแตกต่างกันเพื่อหาปริมาณวัคซีน ChulaCov19 ที่เหมาะสมให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและมีประสิทธิภาพที่สุด แบ่งออกเป็นการทดสอบปริมาณ 10 ไมโครกรัม 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัมตามลำดับ ทั้งนี้ทุกกระบวนการทดสอบวัคซีนเน้นเรื่องความปลอดภัยของอาสาสมัครเป็นสำคัญ

ลักษณะการทดสอบจะเริ่มฉีดจากปริมาณต่ำที่สุดในกลุ่มแรก สังเกตอาการของอาสาสมัครกลุ่มแรกเป็นเวลา 3 วัน หากไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ จึงทำการทดสอบด้วยปริมาณวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในอาสาสมัครกลุ่มต่อไป และเมื่อการทดสอบในขั้นตอนนี้ครบถ้วนแล้วเสร็จจึงจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการทดสอบในกล่มุ อาสาสมัครจำนวน 150 – 300 คน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยวัคซีนChulaCov19 มีแนวโน้มที่จะได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ฉีดได้ภายในปลายปีพ.ศ. 2564 หากสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงในการทดลองระยะที่ 2

ข้อโดดเด่นอีกประการของวัคซีน ChulaCov19 คือ เป็นวัคซีนmRNA ที่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 เดือนหรือหากอุณหภูมิสูงขึ้นมาที่ 25 องศาเซลเซียส ก็ยังสามารถเก็บได้เป็นเวลา 2 อาทิตย์ จึงเหมาะสมในการขนส่งภายในประเทศเขตร้อนเช่นประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันความกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสจะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความกังวลนี้จึงได้ทำการทดลองวัคซีนรุ่นที่ 2 กับสัตว์ทดลองแบบคู่ขนานไปกับการทดสอบวัคซีนรุ่นแรกเพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ ดังนั้นคาดว่าจะมีการทดสอบวัคซีนป้องกันเชื้อกลายพันธุ์กับกลุ่มอาสาสมัครภายในปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน

อ.นพ.สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธรในพระราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านับเป็นความยินดีที่ศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนกับศูนย์วิจัยวัคซีน ตั้งแต่เริ่มต้นการวิจัยมาจนถึงกระบวนการทดสอบล่าสุด เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างและกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทีมนักวิจัยทุกคนจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังต้องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ต่างๆ ขณะที่ทางศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ พร้อมสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้มีวัคซีนจากคนไทยที่เสร็จสมบูรณ์
เพื่อคนไทยทุกคน

ว่าที่ ร.ต.หญิง ศิริวรรณ ทองทิพย์ พยาบาลวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ในฐานะพยาบาลที่ได้มีส่วนร่วมในการทดสอบวัคซีนรุ่นแรกกล่าวถึงความรู้สึกว่า ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ ศ.นพ.เกียรติ กรุณาไว้วางใจให้ร่วมปฏิบัติงาน อีกทั้งทำให้ได้เห็นความสามัคคีและความทุ่มเทของบุคลากรทุกฝ่ายอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง บทบาทต่อไปคือการติดตามผลการทดสอบจากอาสาสมัครและการนัดหมายอาสาสมัครในการทดสอบรุ่นต่อไป ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ที่สุด

ศ.นพ.เกียรติ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของการทำงานครั้งนี้ว่าต้องอาศัยความมุ่งมั่น กล้าฝัน การพึ่งพากันอย่างครบวงจร การร่วมใจกับตอบสนองวิกฤติโรคระบาดอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทุกฝ่ายต้องประสานประโยชน์และความทุ่มเทดังเช่นที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงและศักยภาพที่เปี่ยมล้นของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีของประเทศไทย อีกทั้งความรู้ความสามารถของคนไทยจะกลายเป็นกำลังหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้พลเมืองโลกทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสาธารณสุขที่ดีมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

ความรู้สึกของอาสาสมัคร 4 คนแรกที่ได้รับวัคซีน ChulaCov19

อาสาสมัครคนที่ 1 : มั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตโดยคณะทำงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เชื่อมั่นว่า
จะเป็นวัคซีนที่ดีเทียบเท่าหรือดีไม่แพ้วัคซีนชนิดอื่น
อาสาสมัครคนที่ 2 : พอทราบข่าวการรับสมัครอาสาสมัครเพื่อมาทดสอบวัคซีนก็มาสมัครทันที เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์
ที่คนไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้ได้เอง
อาสาสมัครคนที่ 3 : นี่คืออีกก้าวสำคัญที่พิสูจน์ความก้าวหน้าของการวิจัยทางการแพทย์ในประเทศไทย จึงอยากเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมสนับสนุน
งานวิจัยของไทยให้โดดเด่นไม่แพ้นานาชาติ การที่เราผลิตวัคซีนได้เองนั่นหมายถึงคนไทยจะสามารถเข้าถึงการรักษาที่ถูกลง ขณะที่เยาวชน
ไทยก็จะหันมาสนใจองค์ความรู้สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้นด้วย
อาสาสมัครคนที่ 4 : หลังจากรับการฉีดวัคซีนรุ่นแรกไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ มีความมั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนมาก และอยากเชิญชวนให้
คนไทยทุกคนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง