การบริการตรวจทางรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เป็นหนึ่งในการตรวจรักษาโรคมะเร็งที่ทำได้หลายวิธี เช่น การฉายรังสี การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งการฉายรังสีนั้นแตกต่างจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพราะเป็นการกำหนดให้รังสีพลังงานสูงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงได้รับรังสีในปริมาณที่น้อยมาก จึงเป็นวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยม และสามารถรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในกรณีที่มีการแพร่กระจายไปที่สมองได้ดีกว่าการรักษาแบบอื่นๆ
การรักษาด้วยการฉายรังสีแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
- รังสีรักษาระยะไกล คือการรักษาด้วยรังสีที่มาจากแหล่งกำเนิดรังสีซึ่งอยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย และใช้เอกซเรย์พลังงานสูง
- รังสีรักษาระยะใกล้ หรือการฝังแร่ คือการใช้สารกัมมันตรังสีใส่เข้าไปในภายในตัวผู้ป่วยโดยตรง เพื่อทำการรักษามะเร็งในบริเวณที่เฉพาะเจาะจง
การเตรียมตัวก่อนรักษา
- ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการประเมินสภาพร่างกายจากแพทย์รังสีรักษา โดยการซักถามประวัติและตรวจร่างกาย
- ผู้ป่วยจะต้องเข้าร่วมการจำลองการฉายรังสีก่อนเข้ารับการฉายรังสีจริง เนื่องจากการฉายรังสีจำเป็นต้องฉายไปที่ก้อนมะเร็งทุกครั้งอย่างแม่นยำเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจำลองการฉายรังสีและกำหนดจุดการฉายรังสี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการฉายรังสีได้ตรงกันทุกครั้ง
- ในระหว่างการจำลองการฉายรังสี ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่าทางเหมือนเข้ารับการฉายรังสีจริงๆ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำตลอดทั้งขั้นตอน
วิธีการตรวจ
- การฉายรังสีแต่ละครั้งใช้เวลา 5-15 นาที ในการจัดท่าทางและใส่อุปกรณ์เครื่องมือยึดตัว และจัดตำแหน่งการฉายรังสี และใช้เวลาในการฉายรังสีแต่ละครั้งประมาณ 10-40 นาที โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำตลอดการฉายรังสี
- ในระหว่างการรับรังสีรักษา ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนที่ผิว และสามารถสื่อสารโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ห้องควบคุมผ่านไมโครโฟนและลำโพง ในกรณีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อหยุดการฉายรังสีและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันที
- ในระหว่างการฉายรังสี แพทย์รังสีรักษาจะนัดพบผู้ป่วยทุกสัปดาห์เพื่อประเมินผลข้างเคียง แนะนำวิธีปฏิบัติ และตอบข้อซักถามของผู้ป่วยและญาติ
- หลังเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจติดตามหลังการรักษา โดยอาจมีการตรวจเลือดและตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เพื่อประกอบการตรวจรักษาและรายงานการตรวจประเมินให้แพทย์อื่นๆ ในทีมรับทราบ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรกหลังการรักษา เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ได้ที่
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4100