เครียดลงกระเพาะ มีจริง หรือแค่คิดไปเอง
ความเครียดไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพกายอีกด้วย กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ โดยจะมีการหลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้น การบีบตัวและการรับความรู้สึกจากกระเพาะอาหารและลำไส้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีความเครียดนั้นจึงไม่ใช่เกิดจากคิดไปเอง แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายดังกล่าว
ความเครียดอาจทำให้มีอาการระบบทางเดินอาหารดังนี้
- ปวดหรือแน่นจุกบริเวณลิ้นปี่ มักเป็นก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร
- แน่นท้อง ท้องอืด
- อิ่มเร็วกว่าปกติ
- เรอบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
วิธีรักษาอาการเครียดลงกระเพาะ
ความเครียดทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติได้ และในทางกลับกันอาการระบบทางเดินอาหารนี้ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้เช่นกัน การรักษาจึงต้องตัดวงจรนี้โดย…
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลี่ยงความเครียด เช่น ปรับตารางทำงานให้สมดุล พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง วาดรูป อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิ
- เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สิ่งเสพติดเพื่อเป็นการคลายเครียด
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบทั้ง 3 มื้อ
- พบแพทย์เพื่อรักษาอาการระบบทางเดินอาหาร
- หากจัดการความเครียดไม่ได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์
ข้อมูลโดย : ผศ.(พิเศษ) พญ.ฐนิสา พัชรตระกูล
ฝ่ายอายุรศาสตร์
ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2566