โรคกลัวเชื้อโรคปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19
โรคกลัวเชื้อโรค (Mysophobia) คือ โรคที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวเชื้อโรค ความสกปรก พื้นที่ที่ไม่สะอาดการปนเปื้อนต่าง ๆ รวมถึงการติดเชื้อ หากมีความรู้สึกกลัวมากจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ที่ประชาชนมีความกลัวต่อการสัมผัสเชื้อโรคในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19
สาเหตุ
เกิดจากประสบการณ์เกี่ยวกับการสัมผัสเชื้อโรคหรือความสกปรกที่ไม่ดีในอดีตมาก่อน รวมถึงมีนิสัยส่วนตัวที่รักความสะอาดมาก จนอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกกลัวต่อการสัมผัสเชื้อโรค
อาการ
- กลัวเชื้อโรคและความสกปรกขั้นรุนแรง รวมทั้งรู้สึกไม่ดีเมื่อต้องสัมผัสหรือเข้าใกล้ความสกปรก
- มีปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น ร้องให้ โวยวาย เหงื่อแตกตัวสั่นมากผิดปกติ เมื่อเจอความสกปรก
- กลัวความสกปรกมากถึงขั้นมีอาการป่วย เช่น หน้ามืด เป็นลม
- ล้างมือบ่อยเกินความจำเป็น ล้างมือซ้ำ ๆ
- มักอาบน้ำนานหรือบ่อยครั้ง เพราะคิดว่าตนเองทำความสะอาดไม่ทั่วถึง
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นในทุกกรณี เช่น ห้องน้ำสาธารณะ รถโดยสารสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายผู้อื่น
การรักษา
การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการรักษาหลักที่ฝึกให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความกลัวของตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนบรรลุเป้าหมายในการรักษาการใช้ยา มียาหลายกลุ่ม ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่ ยาต้านเศร้า ยาระงับอาการสั่น ยาลดความวิตกกังวล และยาทางจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งการรักษาด้วยยาจะทำควบคู่ไปกับพฤติกรรมบำบัดโดยยาจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวน้อยลงและกล้าฝึกพฤติกรรมบำบัดมากขึ้น
ข้อมูล ณ วันที่ 12 กันยายน 2564
ที่มา : อ. นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล