ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์
ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม
Excellence Center in Diabetes, Hormone and Metabolism
ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน
และโรคที่เกิดความผิดปกติจากฮอร์โมนอื่น ๆ อย่างครบวงจร
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมนและเมตะบอลิสม แห่งนี้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคที่เกิดความผิดปกติจากฮอร์โมนอื่น ๆ อย่างครบวงจร โดยใช้วิทยาการทางการแพทย์ขั้นสูงในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเป็นแหล่งในการศึกษาวิจัย ฝึกอบรม และให้ความรู้กับบุคลากรณ์ทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป
ผลงานที่ภาคภูมิใจของศูนย์
1. การจัดตั้ง Transition Clinic
Transition clinic หรือคลินิกเปลี่ยนผ่าน เป็นคลินิกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งมอบการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็ก จากคลินิกเด็กสู่คลินิกผู้ใหญ่ โดยร่วมกับหน่วยต่อมไร้ท่อฯ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เหมาะสม และสามารถปรับตัวเพื่อเข้ารับการรักษาในคลินิกผู้ใหญ่ในอนาคต ถือเป็นครั้งแรกของโรงเรียนแพทย์ที่มีการจัดตั้งคลินิกเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการให้บริการเปลี่ยนผ่านจากกุมารแพทย์สู่อายุรแพทย์ในสาขาอื่น ๆ ต่อไป คลินิกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานวันเบาหวานโลก 2562 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยเปิดให้บริการทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน ที่อาคาร ภปร ชั้น 3
2. การจัดตั้ง Exercise Clinic
โดยร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้และสาธิตวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย เพื่อให้การดูแลรักษาโรคเบาหวานครบวงจรมากขึ้น คลินิกเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่อาคาร ภปร ชั้น 3 โดยเปิดให้บริการทุกวันอังคาร และวันศุกร์ เวลา 09.00 – 12.00 น.
3. การจัดตั้งคลินิกเบาหวานและโรคต่อมไร้ท่อทางไกล “Diabetes and Endocrine Teleclinic”
จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ โดยกลุ่มผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาในคลินิกนี้ ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ที่มีอาการคงที่
- ผู้ป่วยโรคต่อมหมวกไตที่มีอาการคงที่
- ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความจำเป็นต้องปรับขนาดอินซูลิน ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
- กรณีอื่น ๆ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมที่สามารถเข้ารับการตรวจที่คลินิกนี้ได้
สถานที่ตั้งคลินิกอยู่ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 4 โซน C เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ เวลา 13.00 – 15.00 น.
4. การทำแอปพลิเคชัน “C-Diabetes”
ริเริ่มการทำแอปพลิเคชัน “C-Diabetes” ผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยรวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อช่วยในการบันทึกการดูแลตนเองอย่างครบวงจร แอปพลิเคชันนี้ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานวันเบาหวานโลก 2562 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานและทรงเปิดงานวันเบาหวานโลก 2562 ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android
5. การจัดตั้งคลินิกบูรณาการเท้าเบาหวาน (Integrated Diabetic Foot Clinic)
เป็นคลินิกเท้าเบาหวานแบบสหสาขา ร่วมกับฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู ฝ่ายศัลยกรรม และฝ่ายออร์โธปิดิกส์ เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และครบวงจร คลินิกเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่อาคารไนติงเกล ชั้น 1 โดยเปิดให้บริการทุกวันอังคาร เวลา 08.30 – 12.00 น. และวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.
6. โครงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางคลินิกและความผิดปกติทางพันธุกรรมในผู้ป่วย Familial Hypercholesterolemia (FH)
โดยการเก็บข้อมูลผู้ป่วยในประเทศไทย และร่วมกับประเทศต่าง ๆ กว่า 70 ประเทศทั่วโลก เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2561 และส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูล FH Global Registry ผ่านองค์กร The EAS-FH Study Collaboration (FHSC) – European Atherosclerosis Society มีการจัดงานประชุมวิชาการ Thai FH Workshop ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดตัวโครงการ “Thai FH Registry” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562 โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญโรค FH ระดับโลกมาบรรยายทางวิชาการด้วย
7. งานอบรมวิชาการ
7.1 งาน CUEC Chulalongkorn Endocrine Conference
- จัดอบรมให้ความรู้ทางด้านโรคต่อมไร้ท่อฯให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในสถาบันจุฬาและต่างสถาบัน โดยเน้นเรื่องโรคต่อมไร้ท่อฯ ที่ใช้ได้จริง รวมทั้งโรคต่อมไร้ท่อฯ ที่พบในสาขาอื่น ๆ นอกจากอายุรศาสตร์ด้วย เช่น สูติกรรม เด็ก ศัลยกรรม ฯลฯ
- รูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แบบเต็มวัน เป็นระยะเวลา 2.5 วัน เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
7.2 งาน CU Pituitary Preceptorship Program
- จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่อมใต้สมองให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และต่างสถาบัน
- รูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แบบครึ่งวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
8. โครงการรับรองมาตรฐาน Disease Specific Certification ด้านเบาหวาน
มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยมีการจัดทำแนวทางในการดูแลผู้ป่วยให้เป็นระบบระเบียบ และได้มาตรฐาน ที่สามารถตรวจสอบ ประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการขอรับการประเมินรับรองคุณภาพเฉพาะโรคหรือระบบ
9. การผลิตตำราและแนวทางเวชปฏิบัติทางต่อมไร้ท่อ
เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับแพทย์ พยาบาล นิสิตนักศึกษาแพทย์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแขนงต่าง ๆ ในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยให้มากที่สุด
10. กิจกรรม “ค่ายเบาหวานพักค้างแรม”
เป็นกิจกรรมนอกสถานที่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย มีการจัดสัมมนาและจัดกิจกรรมสอดแทรกความรู้เรื่องโรคเบาหวานโดยแพทย์ พยาบาล และโภชนากรตลอด 2 วัน 1 คืน ต่อเนื่องทุกปี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากแพทย์สู่ประชาชนให้ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
11. กิจกรรมวันเบาหวานโลก
กิจกรรมนี้มีการริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 โดยสหพันธ์เบาหวานนานาชาติและองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของโรคเบาหวานในระดับโลกและเพื่อสนองต่อจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยทางศูนย์ฯ ได้เริ่มจัดงานวันเบาหวานโลกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 และได้จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
เจตจำนง
เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ และวิจัยด้านเบาหวาน ฮอร์โมนและเมตะบอลิสม
ภาระหน้าที่
- เป็นเลิศในการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไทรอยด์ ไขมันสูง และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในระบบต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสมมาตรฐานระดับสากล
- พัฒนางานวิจัยต้นแบบเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคอย่างแม่นยำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- เป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม ที่เป็นแหล่งอ้างอิงระดับชาติและระดับนานาชาติ
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมนและเมตะบอลิสม มีโครงสร้างของศูนย์ ดังนี้
1. ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ
ที่ปรึกษา
2. รศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร
ที่ปรึกษา
3. รศ.พญ.ลลิตา วัฒนะจรรยา
ประธานกรรมการ
4. ศ.ดร.นพ.วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ
กรรมการ
5. รศ.นพ.สารัช สุนทรโยธิน
กรรมการ
6. ผศ.นพ.ธิติ สนับบุญ
กรรมการ
7. ผศ.นพ.ปฏิณัฐ บูรณะทรัพย์ขจร
กรรมการ
8. ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์
กรรมการ
9. อ.พญ.ปนัดดา ศรีจอมขวัญ
กรรมการ
10. อ.พญ.ณิชกานต์ หลายชูไทย
กรรมการและเลขานุการ
การให้บริการของศูนย์
การให้บริการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. งานด้านการตรวจ Special dynamic test
2. งานด้านการตรวจ Thyroid ได้แก่
- MD603 Thyroid Ultrasound
- MD604 FNA+Thyroid ultrasound
- MD605 FNA thyroid
3. งานด้านการตรวจ Neuroendocrine tumors ได้แก่
- ML402 Plasma Chromogranin A
4. งานด้านการตรวจ Special genetic test ได้แก่
- ML411 Sequencing of triplet repeats-Kennedy’s disease (CAG triplets of AR gene)
- ML412 Whole gene sequencing-Von Hippel Lindu disease (VHL gene)
- ML413 Limited gene sequencing for BRAF mutation (V600E)
- ML414 Gene sequencing-MENIN (MEN1)
- ML415 Gene sequencing-ApoE polymorphism
- ML416 Limited gene sequencing-RET related Conditions/Test
- ML417 Limited gene sequencing-Hereditary Pancreatitis SPINK1/Test
- ML418 PCR for SRY gene
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 4 โซน C
วันจันทร์ – ศุกร์
เวลา 08.00 – 16.00 น.
อาคาร ภปร ชั้น 3
วันจันทร์ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันศุกร์
เวลา 08.00 – 12.00 น.
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 4 โซน C
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 4101