ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
Department of Emergency Medicine
ช่วยชีวิตฉับไว วินิจฉัยแม่นยำ เพียบพร้อมคุณธรรม เลิศล้ำวิชาการ
ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ได้รับการตั้งเป็นฝ่ายเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อจำแนกงานในการดูแลผู้ป่วยนอกที่มีภาวะฉุกเฉินรวมไปถึงการดูแล ก่อนถึงโรงพยาบาลและการส่งตัวผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดราชการ เน้นให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตและกึ่งวิกฤต ปัจจุบันห้องฉุกเฉินตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ได้มีการออกแบบห้องฉุกเฉินให้มีความทันสมัยมีเครื่องตรวจติดตามอาการเพื่อการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที หน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉินมีการให้บริการผู้ป่วย ทั้งหมดประมาณ 45,000 รายต่อปี มีทีมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อายุรกรรม ศัลยกรรม และกุมารแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากการให้บริการผู้ป่วยยังมีการเรียนการสอนในห้องฉุกเฉินสำหรับแพทย์ประจำบ้าน นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 และ 6 รวมถึงนิสิตเภสัชกรและนิสิตพยาบาล
นอกจากนี้ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังเป็นตัวแทนการสัมมนาและฝึกอบรมการใช้ Ultrasound ในผู้ป่วยวิกฤต World Interactive Network Focused On Critical Ultrasound (WINFOCUS) Training Unit ซึ่งมีการจัดฝึกอบรมทุกปี
รางวัล หรือความภาคภูมิใจ
- ได้รับประกาศนียบัตร จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)ด้านมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งเน้นการพัฒนา คุณภาพการดูแลผู้ป่วย การสร้างเสริมสุขภาพ และการบริหารองค์กร
- ได้รับรางวัลชนะเลิศรองชนะเลิศอันดับ 1 The 5th Emergency Medicine Tournament จากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ได้รับรางวัล Our Greatest Application From Emergency Department Hospital University Sains Malaysia
- ได้รับรางวัล 5th Thailand Emergency Medicine Award 2018 Station: Advanced Cardiac Life Support จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ได้รับรางวัล 3rd Thailand Emergency Medicine Award 2014 Station PREHOSPITAL CARE
- ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพสถาบันฝึกอบรม Postgraduate Medical Education WFME Global Standards for Quality Improvement
- ดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการประจำปี “เวชศาสตร์ฉุกเฉิน Emergency Medicine Chula Conference” ทุกปี
- ดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Friday Night at the ER and TEAMSTEPPS workshop Simulation tool for Team Learning แก่บุคลากรต่าง ๆ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เจตจำนง
ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นหนึ่งในฝ่ายที่สังกัดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มุ่งผลิตแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มีความสามารถสูง และมีความใฝ่รู้ คู่คุณธรรมพร้อมทั้งมีการสร้างงานวิจัย และผลงานวิชาการ ที่มีคุณค่าเป็นแหล่งอ้างอิงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มีความเป็นเลิศทางด้านงานบริการผู้ป่วยและมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ภาระหน้าที่
1. ผลิตแพทย์ฉุกเฉินตามเกณฑ์มาตรฐานผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ของแพทยสภา โดยคำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนและสังคม ดังนี้
- ผลิตแพทย์ฉุกเฉินที่มีความรู้ความสามารถด้านทักษะและวิชาการ ในฐานะแพทย์ฉุกเฉินสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้จากการฝึกอบรมไปประกอบวิชาอาชีพและพัฒนาสังคมที่ตนอยู่ได้
- ผลิตแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อไปปฏิบัติงาน ในโรงเรียนแพทย์ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก และสถาบันฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
- ผลิตแพทย์ฉุกเฉินเพื่อบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาใช้บริการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์รวมถึงการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลในเขตรับผิดชอบ
2. ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ผลิตงานวิจัย หรือองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ
การให้บริการของฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ด้าน Service
ER & Resuscitation
ห้องฉุกเฉินให้การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่อาการหนักวิกฤตจนถึงผู้ป่วยเร่งด่วน โดยภายในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แบ่งเป็นโซน สำหรับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในแต่ละโซนยังมีโซนย่อยสำหรับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน (Resuscitation Zone) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุดเทียบเท่ามาตรฐานสากลนอกจากนี้ภายในห้องฉุกเฉินยังมีห้องเอกซเรย์และห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
ER – Observation unit
ห้องสำหรับสังเกตอาการได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วย ที่ต้องการสังเกตอาการภายในเวลาไม่เกิน 48 ชม.โดยอยู่ที่อาคารจุฬาภรณ์ชั้น 2 (อยู่ด้านบนห้องฉุกเฉิน)มีศักยภาพสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด 10 เตียง โดยจะมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน อาจารย์แพทย์ และพยาบาลฉุกเฉิน ทำหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเต็มที่ในที่ที่เหมาะสม และสังเกตอาการต่อจากห้องฉุกเฉินอ้างอิงตามข้อกำหนดของห้องสังเกตอาการ ตามหลักของ American College of Emergency Physicians 2014
EMS Unit Center
เนื่องจากพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นถนนสีลม สาทร สามย่าน พระรามที่ 4 มีประชาชนเดินทางเข้ามาทำงานติดต่อธุรกิจ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก มีการจราจรที่คับคั่ง เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้บ่อย เพื่อให้บริการประชาชนโดยรอบบริเวณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนปัจจุบันนี้ ศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีทีมกู้ชีพพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และบริการด้านสุขภาพในงานชุมนุมต่าง ๆ
ศูนย์กู้ชีพ ร่วมดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจทั่วประเทศ 1200 ตัว ขณะเครื่องทยอยออกสู้พื้นที่สาธารณะ และทำการออกแบบ application AED กระตุกหัวใจ ที่ประกอบด้วย สื่อการสอนวิธีการใช้ AED, การค้นหา AED, การค้นหาคนไปเอา AED ไปที่เกิดเหตุม ค้นหาคนมาช่วยช่วยกู้ชีพ ซึ่งทุกท่านสามารถ download application ไว้ในโทรศัพท์มือถือได้ทาง QR code
ด้าน Education & Training
เนื่องด้วยปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับบริการในแผนกฉุกเฉินเพิ่มขึ้นในทุกปี ประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริบาลผู้ป่วย ตามมาตรฐานสากล ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉินจึงจัดงาน วิชาการด้านต่างๆ และงานสอนตั้งแต่นิสิตแพทย์ไปจนถึงแพทย์ประจำบ้าน ให้สอดคล้องกับพันธกิจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในด้านความเป็นเลิศทั้งทางวิชาการและการบริการ
EM residency program
โปรแกรมสำหรับแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเป็นเวลา 3 ปี โดยในช่วงเวลาการฝึกอบรมจะได้ปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งในและนอกโรงพยาบาลรวมถึงได้ฝึกการทำหัตถการในการช่วยชีวิตต่างๆ ตลอดจนการศึกษาดูงานในสาขาย่อยที่สนใจ เช่น Prehospital care, Aviation, Toxicology, Hyper-Hypobaric และอื่น ๆ
แพทย์ประจำบ้านจะได้มีโอกาสทำงานวิจัยด้วยตนเองอย่างน้อย 1 เรื่อง ในเรื่องที่ตนเองสนใจโดยมีอาจารย์และทีมวิจัยของโรงพยาบาลเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิด นอกเหนือจากนี้ในช่วงเวลา 3 ปี แพทย์ประจำบ้านสามารถเลือกใช้เวลาของการ Elective ไปศึกษาการทำงานในห้องฉุกเฉินที่ต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในสาขาย่อยที่สนใจ
WINFOCUS training
โปรแกรม WINFOCUS (World Interactive Network Focused on Critical Ultrasound) เป็นโปรแกรมหลักของการทำ Ultrasound สำหรับผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งเป็นโปรแกรมสากล มีการฝึกอบรมอยู่ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดย อ.พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล ได้เป็นผู้บุกเบิกและตัวแทน WINFOCUS เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Research project & Publication
เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดของผู้ป่วยวิกฤต และผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน การค้นคว้าวิจัยจึงเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
Resident Conference
การประชุมแพทย์ประจำบ้าน จัดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ แบ่งปัน และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
Medical Students
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 [Med students] จะได้มีโอกาสเข้ามาเรียนการตรวจผู้ป่วย และการทำงานในห้องฉุกเฉิน ในรายวิชา Ambulatory and Emergency Medicine ซึ่งวัตถุประสงค์ของฝึกทำงานในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ได้แนวคิดของการรักษาผู้ป่วยวิกฤต การ approach ผู้ป่วยฉุกเฉิน การฝึกทำหัตถการพื้นฐาน และได้เรียนรู้ชีวิตความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 (Extern) จะได้มีโอกาสมาทำงานในห้องฉุกเฉิน 2 สัปดาห์ ในช่วง Internal Medicine และ ช่วงอยู่เวรของ Surgical และ Orthopedics วัตถุประสงค์การทำงานในปีสุดท้ายของการเรียนแพทย์ เพื่อให้สามารถให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกรูปแบบ ได้ฝึกทำหัตถการช่วยชีวิตที่จำเป็น เช่น การใส่ท่อช่วยหาย การใส่ ICD การทำ Ultrasound เป็นต้น ในระหว่างการทำงานจะต้องมีการ present case อย่างน้อย 1 ครั้ง กับอาจารย์แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ER Chula) เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดราชการ เน้นให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต และกึ่งวิกฤต ปัจจุบันห้องฉุกเฉินตั้งอยู่ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ติดกับถนนราชดำริ ตรงข้ามสวนลุมพินี มีการปรับปรุงห้องฉุกเฉินครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2561
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น M
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 649 4000 ต่อ 83058