ฝ่ายรังสีวิทยา
Department of Radiology
มุ่งสู่การเป็นหน่วยรังสีรักษาชั้นนำระดับโลก
ที่มีความเป็นเลิศทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วย
ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
สาขารังสีรักษาแลมะเร็งวิทยา เริ่มเปิดบริการการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย มีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยรังสี เป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้ป่วยมามากกว่า 60 ปี เริ่มมีอาคารให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ในปี พ.ศ. 2503 ได้เริ่มสร้างอาคาร สวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นสถานที่ของแผนกรังสีวิทยา รับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ประมาณ 50 คน หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการแพทย์เจริญขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดให้สภากาชาดไทยสร้างอาคารอับดุลราฮิม โดยต่อเติมจากอาคารโคบอลต์เดิมที่เป็นอาคารชั้นเดียวเป็น 3 ชั้น มีห้องให้เคมีบำบัดเพื่อบริการผู้ป่วยอยู่ที่ชั้น 2 และมีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ถัดมาในช่วงปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2530 ได้ทำการก่อสร้างอาคารล้วน–เพิ่มพูล ว่องวานิช เพื่อเป็นศูนย์ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น ทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ให้บริการอยู่ที่ชั้น 1 เป็นห้องตรวจโรค ชั้น 3 เป็นการรักษาด้วยการใส่แร่ และชั้น 5 – 7 เป็นหอผู้ป่วยใน ในปี พ.ศ. 2532 ได้ดำเนินการสร้างอาคารเอลิสะเบธ-จักรพงษ์ เพื่อรองรับเครื่องฉายรังสีและเครื่องจำลองการฉายรังสีเครื่องแรก และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาเครื่องมือจนมีเครื่องฉายแสงทั้งหมด 6 เครื่องในปี พ.ศ. 2557
ในปี พ.ศ. 2559 ได้เริ่มก่อสร้างอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ที่ชั้น B1 และชั้น 1 เป็นพื้นที่ของสาขารังสีรักษา มีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีอีก 3 เครื่อง เพื่อรองรับการขยายการให้บริการผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น
ในปี พ.ศ. 2562 ได้เริ่มก่อสร้างศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บนพื้นที่อาคารสวัสดิ์-ล้อมเดิม เพื่อรองรับการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นสถาบันแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ทางสาขาฯ พัฒนาระบบและเทคนิคการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นสาขารังสีรักษาชั้นนำระดับนานาชาติ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีและวิวัฒนาการของรังสีรักษาได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคนิคการฉายรังสีและเครื่องมือฉายรังสี กล่าวคือ มีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีเอกซเรย์ จากแบบ 2 มิติ เป็น 3 ถึง 4 มิติ และพัฒนาสู่การฉายรังสีปรับความเข้ม (intensity modulated radiotherapy: IMRT) การฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว (volumetric modulated arc radiotherapy: VMAT) การฉายรังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด (stereotactic radiosurgery: SRS) และการฉายรังสีร่วมพิกัดบริเวณลำตัว (stereotactic body radiotherapy: SBRT) อีกทั้งยังได้พัฒนาเครื่องมือฉายรังสี จากเดิมใช้รังสีแกมมาเป็นรังสีเอกซ์และลำอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาค และในที่สุดได้มีการพัฒนาการฉายรังสีโดยใช้อนุภาคโปรตอนขึ้น กอปรกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด
รางวัลหรือความภาคภูมิใจ
- ปี พ.ศ. 2494 เริ่มใช้เครื่องเอกซเรย์แบบลึกสำหรับรักษามะเร็งชนิดตื้น (Deep X-ray GE Maximar 400) ซึ่งขณะนั้นเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศไทย
- ปี พ.ศ. 2501 สหสมาคมกาชาดและจันทร์แดงแห่งสหภาพโซเวียตได้บริจาคเครื่อง Cobalt 60 Teletherapy แบบ GUT-400 ซึ่งถือเป็นเครื่องโคบอลต์เครื่องแรกในประเทศไทย โดยใช้รักษาผู้ป่วย พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2513
- ปี พ.ศ. 2548 เริ่มการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated radiotherapy; IMRT) และพัฒนาเป็นการฉายรังสีปรับความเข้มแบบหมุนรอบตัว (Volumetric Modulated Arc Therapy; VMAT) พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งถือเป็นเครื่องฉายรังสีแรกในประเทศไทย และในปัจจุบันรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคนี้ได้มากถึง 1,600 รายต่อปี
- ปี พ.ศ. 2552 เริ่มใช้เทคนิคการใส่แร่ด้วยระบบภาพนำวิถี (image guided adaptive brachytherapy) โดยนำภาพจากเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging: MRI) มาใช้ในการคำนวณการรักษาแบบ 3 มิติ เป็นแห่งแรกในประเทศ และเป็นสถาบันแรก ๆ ของโลก ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งรอยโรคและอวัยวะปกติรอบข้างได้ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การใส่แร่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปี พ.ศ. 2560 ทางสาขาฯ ก่อตั้งคณะกรรมการความเสี่ยงในงานรังสีรักษาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ เพื่อดูแลกระบวนการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางรังสีรักษาและประชาชนทั่วไป
- ปี พ.ศ. 2562 เริ่มติดตั้งเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน (proton) ซึ่งเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน (cyclotron) เพื่อเร่งอนุภาคโปรตอนของศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยจะพร้อมให้การรักษาผู้ป่วยรายแรกในปลายปี พ.ศ. 2564
- ปี พ.ศ. 2562 ทางสาขาฯ ได้ผ่านการเยี่ยมสำรวจและประเมินคุณภาพการรักษาด้วยรังสี (quality assurance team for radiation oncology: QUATRO) จากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (international atomic energy agency: IAEA) ในระดับ center of competence
- ปี พ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน เป็นศูนย์การฝึกอบรมทางรังสีรักษาของ IAEA, บริษัท Varian และบริษัท Elekta สำหรับรังสีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และพยาบาล จากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สาขาฯ เป็นศูนย์รังสีรักษาต้นแบบให้กับศูนย์อื่นๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ ปีละ 4 – 6 คน
- เป็นสถาบันการศึกษาเดียวในประเทศไทยที่มีการผลิตบุคลากรทางรังสีรักษาในทุกระดับ ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทาง หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฏีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์การแพทย์
เจตจำนง
มุ่งสู่การเป็นหน่วยรังสีรักษาชั้นนำระดับโลก ที่มีความเป็นเลิศทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการพัฒนางานสอนเพื่อสามารถผลิตแพทย์ประจำบ้านที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ภาระหน้าที่
- ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยทางด้านรังสีรักษาอย่างครบวงจร ด้วยวิธีการมาตรฐาน มีหลักฐานและข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
- ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน มีคุณธรรม และจริยธรรม
- ให้บริการวิชาการและความรู้แก่หน่วยงานและประชาชน
- สร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
- จัดอบรมและเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของบุคลากรทางรังสีรักษาและโรคมะเร็งจากสถาบันอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาให้ได้มาตรฐานและเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี
โครงสร้างของฝ่ายรังสีวิทยา ประกอบด้วยงานด้านต่าง ๆ ดังนี้
การให้บริการของฝ่าย
ฝ่ายรังสีวิทยา เปิดให้บริการ ดังนี้
- บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยให้บริการผู้ป่วยนอกมากกว่า 2,700 รายต่อปี และผู้ป่วยในมากกว่า 2,500 รายต่อปี
- ปัจจุบันมีเครื่องฉายรังสีทั้งหมด 6 เครื่อง สามารถให้บริการฉายรังสีผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 3,500 ราย มีระยะเวลารอฉายรังสีสั้นที่สุดในประเทศไทย
- ใส่แร่ 3 มิติ โดยใช้ภาพจากเครื่องเอ็มอาร์ (MRI)
- การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน เริ่มให้การรักษาปลายปี พ.ศ. 2563
- โครงการเพื่อนคู่คิดพิชิตมะเร็ง ให้คำปรึกษาและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งทางโทรศัพท์
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ฝ่ายรังสีวิทยา เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 19.00 น. โดยรับบริการทั้งผู้ป่วยในและนอกเวลาราชการ
ฝ่ายรังสีวิทยา มีทั้งหมด 5 อาคาร ดังนี้
- อาคารเอลิสะเบธ จักรพงษ์
- อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช (ห้องตรวจผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน)
- อาคารอับดุลราฮิม
- อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น B1 และชั้น 1
- ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
หน่วยงายภายใต้ฝ่ายรังสีวิทยา
- หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ข้อมูลเพิ่มเติม..
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ฝ่ายรังสีวิทยา
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 4100, 02 256 4334
โทรสารหน่วยงาน
02 256 4405
เว็บไซต์หน่วยงาน
เฟซบุ๊กหน่วยงาน
ไลน์หน่วยงาน
@chulacancer
อีเมลหน่วยงาน
chulacancer@yahoo.com
สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย
สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มต้นตั้งแต่ครั้งที่มีการก่อตั้ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ในขณะนั้นมีเครื่องเอกซเรย์อยู่แล้วและเป็นเครื่องที่ใช้หลอดชนิด “ Gas tube “ ติดตั้งไว้ในห้องผ่าตัดโดยครั้งแรกใช้ชื่อว่า “แผนกไฟฟ้าและราดิอุม” ซึ่งในวันเปิดโรงพยาบาล นายพันตรีหลวงศักดาพลรักษ์ ( เสก ธรรมสโรช) ได้เป็นผู้ฉายเอกซเรย์ทรวงอกถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หมวดแสงรัศมี” ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นแผนกรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2490
ในปี พ.ศ. 2510 ภายหลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ได้โอนเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดตั้ง ภาควิชารังสีวิทยาขึ้นเพื่อดูแลด้านการเรียน การสอน จึงใช้ชื่อเป็นภาควิชา/แผนกรังสีวิทยา โดยในขณะนั้นสาขารังสีวิทยา วินิจฉัยเป็นหนึ่งในสามหน่วยงานของภาควิชา/แผนกรังสีวิทยานั่นคืออยู่ภายใต้ การบริหารขององค์กร 2 องค์กรร่วมกัน คือภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์และงานวิจัย และแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องงานด้านการบริการผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยทั้งสององค์กรมีสำนักงานอยู่ที่อาคารสวัสดิ์ – ล้อม โอสถานุเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก “หน่วยรังสีวินิจฉัย” เป็น “สาขารังสีวินิจฉัย” ซึ่งต่อมาเมื่อมีการ ขยายงานทางด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพชนิดที่ไม่ใช้รังสีเอกซ์ (เช่น การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ การตรวจด้วยเครื่อง สร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก) และด้านรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) จึงได้มีการเปลี่ยน ชื่อ หน่วยงานเป็น “สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย” ตามหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของแพทยสภา เมื่อสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการปรับโครงสร้างโดยให้ปรับ “แผนก” เป็น “ฝ่ายรังสีวิทยา” ในปี พ.ศ. 2540 สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยจึงเป็นสาขาหนึ่งในฝ่ายรังสีวิทยาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยนับเป็นสาขาหนึ่งทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีความหลากหลายของเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย โดยได้รับความไว้วางใจจากแพทย์สาขาต่างๆที่ทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยเป็นสาขาที่มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการบริการเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาขาได้มีการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา เช่น
- พ.ศ. 2523 ได้เริ่มมีการก่อตั้งหน่วยหน่วยอัลตราซาวนด์ครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และปัจจุบันมีการให้บริการการตรวจอัลตราซาวด์ทั้งสิ้น 5 หน่วยบริการ
- พ.ศ. 2524 ได้เริ่มมีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น 5 เครื่อง
- พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านมครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์เต้านมทั้งสิ้น 3 เครื่อง
- พ.ศ. 2535 ได้เริ่มมีการใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) ครั้งแรกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในปัจจุบันมีเครื่องตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กทั้งสิ้น 7 เครื่อง
เจตจำนง
ให้บริการการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย มุ่งมั่นในการผลิตรังสีแพทย์ และบุคลากรทางด้านรังสีวินิจฉัยที่มีคุณภาพ ทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัย โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาช่วยสนับสนุนและประยุกต์ผลการวิจัยสู่การบริการทางการแพทย์และสู่สังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความเป็นเลิศทางรังสีวิทยาในระดับภูมิภาค มีการกำกับดูแล เฝ้าระวัง ตรวจสอบมาตรการการใช้รังสีในทางการแพทย์ รวมถึงจัดให้มีเครื่องมือป้องกันรังสีและตรวจวัดปริมาณรังสีให้เป็นไปตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีตามมาตรฐาน สากล
ภาระหน้าที่
- ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา ด้วยรังสีเอกซ์ คลื่นเสียงความถี่สูง คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก แก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ
- การส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทุกสาขาและสร้างความร่วมมือให้ใช้ประโยชน์จากงานบริการทางรังสีวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การสนับสนุนงานด้านการวิจัยที่ใช้เครื่องมือทางรังสีวินิจฉัยให้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกสาขารังสีวินิจฉัย ทั้งยังสนับสนุนการค้นคว้า วิจัย งานด้าน AI ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ
- การกำกับดูแล เฝ้าระวังและตรวจสอบมาตรการการใช้รังสีในทางการแพทย์ รวมถึงจัดให้มีเครื่องมือป้องกันรังสีและตรวจวัดปริมาณรังสีให้เป็นไปตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีตามมาตรฐาน สากล
รางวัลหรือความภาคภูมิใจ
รางวัลชมเชยสิ่งประดิษฐ์เข็มจุฬา 1เพื่อการตรวจท่อน้ำลาย เมื่อปี 2531
- รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สุดี ชมเดช
รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอน รางวัล “อาจาริยมิตต์” จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สุกัลยา เลิศล้ำ ปี พ.ศ.2552
- รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ ปี พ.ศ. 2554
รางวัลประกาศเกียรติคุณอาจารย์แบบอย่างจากสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ.2554
- รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ
รางวัลพระราชทานเกียรติบัตรเกียรติบัตรจริยธรรมสรรเสริญจากแพทยสมาคม ปี พ.ศ. 2554
- รองศาสตราจารย์นายแพทย์ เกียรติ อาจหาญศิริ
รางวัลรังสีแพทย์เกียรติคุณด้านวิชาการจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์และรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556
- ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง พิศมัย อร่ามศรี
- ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง คุณหญิง นิตยา สุวรรณเวลา
- รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ
รางวัลรังสีแพทย์เกียรติคุณด้านอุทิศตนต่อราชวิทยาลัยรังสีแพทย์และรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556
- รองศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญเที่ยง ศีติสาร
รางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ ปี พ.ศ. 2556
- ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง พิศมัย อร่ามศรี
- ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทย์หญิง คุณหญิง นิตยา สุวรรณเวลา
- รองศาสตราจาย์แพทย์หญิง สมใจ หวังศุภชาติ
รางวัลบุคลากรดีเด่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ประจำปี พ.ศ. 2531
ประจำปี พ.ศ. 2532
ประจำปี พ.ศ. 2533
ประจำปี พ.ศ. 2537
ประจำปี พ.ศ. 2538
ประจำปี พ.ศ. 2539
ประจำปี พ.ศ. 2540
- นางสุจิตต์ ฉิมอำ พนักงานบัญชี
- นายเอนก ชิตกรณ์ คนงานประจำ
- นายสายหยุด รอดทุกข์ เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค
- นางสาวจุรีย์ ด่านประเสริฐ ประจำแผนก
- นางจรรยา สีสุข พนักงานพิมพ์ดีด
- นางสำเนียง กาญจนรัตน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5
- นายวราจิณ บุญคง เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 5
- ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา หัวหน้าแผนก
- นายอำพัน ทองสุขมาก พนักงานห้องปฏิบัติงาน
- นางสาวมัณฑนา นิรัติศัย นักรังสีการแพทย์ 5
ประจำปี พ.ศ. 2541 นายสมคิด ฤทธิรณ นักวิชาการศึกษา 6
ประจำปี พ.ศ. 2542 นายวัลลภ มากมูล เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4
นายแสวง เหลืองห่อ พนักงานห้องปฏิบัติการ
นายบุญชัย นิตยสุภาภรณ์ นักรังสีการแพทย์ 4 (ประกาศชมเชย)
ประจำปี พ.ศ. 2543 นายวิชัย ทศพรทรงชัย เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4
ประจำปี พ.ศ. 2544 นายสุนทร พันธ์ศิริ เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ 4
ประจำปี พ.ศ. 2545 นางสาวจิดานันท์ พันธ์ดารา เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 3
ประจำปี พ.ศ. 2546 รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ หวังศุภชาติ หัวหน้าฝ่าย
นางสาวเฉลียว หาดี เจ้าหน้าที่ธุรการ 4
นายประจักษ์ อินทรักษา พนักงานห้องปฏิบัติการ (ประกาศชมเชย)
ประจำปี พ.ศ. 2547 นางพิไร แหลมเขาทอง นักรังสีการแพทย์ 5
นางกำปั่น นิลสินธพ เจ้าหน้าที่ธุรการ 4
ประจำปี พ.ศ. 2549 รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สุกัลยา เลิศล้ำ หัวหน้าสาขารังสีวิทยาวินิจฉัย
นางสาวเทียมจันทร์ เมฆนิล เจ้าหน้าที่ธุรการ 4
ประจำปี พ.ศ. 2550 นางสาวร่มรังศรี วงศ์สูง นักรังสีการแพทย์ 4
ประจำปี พ.ศ. 2551 นางสุพิชชา กาญจนรัตน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6
ประจำปี พ.ศ. 2552 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ อาจหาญศิริ หัวหน้าฝ่าย
ประจำปี พ.ศ. 2553 นายบุญชัย นิตยสุภาภรณ์ นักรังสีการแพทย์ 5
ประจำปี พ.ศ. 2554 นางชุติรัตน์ เพชรกระจ่าง คนงานทั่วไป
ประจำปี พ.ศ. 2555 นายสายัน วิชาธรรม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ 4
ประจำปี พ.ศ. 2556 นายจำนงค์ คุ้มเขว้า นักรังสีการแพทย์ 5
ประจำปี พ.ศ. 2557 นางเพ็ชรลีย์ สุวรรณประดิษฐ์ ผชก.นักรังสีการแพทย์ 6
ประจำปี พ.ศ. 2558 ผศ.นพ.จาตุรนต์ ตันติวัตนะ ตำแหน่ง นายแพทย์
น.ส.สุริยา มานะผล ตำแหน่งผชก. นักรังสีการแพทย์ 6
น.ส.วรญา เงินเถื่อน ตำแหน่ง นักรังสีการแพทย์ 4
นางพรสุข มีแสง ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ 4
ประจำปี พ.ศ. 2559 รศ.พญ.สุกัลยา เลิศล้ำ ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยา
นางกัลยาณี ธีรกุล ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษนักรังสีการแพทย์ 9
นางศิริณี ธีระจันทร์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ 5
นายพรชัย อ่อนสำลี ตำแหน่ง พนักงานห้องปฏิบัติการ
ประจำปี พ.ศ. 2561 นายบุญชัย นิตยสุภาภรณ์ ตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยใน
นายสุปัญญา จันทคำ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ 5
นายจตุรภัทร ดุสดีธนภัทร ตำแหน่ง พนักงานห้องปฏิบัติการ
การให้บริการของฝ่าย
หน่วย advanced imaging
ให้บริการตรวจ CT scan และ MRI ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 และ อาคาร 14 ชั้น ชั้น 1 ให้แก่ผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ทั้งในเวลาราชการ และ นอกเวลาราชการ
ให้บริการตรวจ CT scan ให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 1
หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยนอก
ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป, fluoroscopy และ อัลตราซาวนด์ ให้แก่ผู้ป่วยนอก ณ อาคาร ภปร ชั้น4
ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป, fluoroscopy และ อัลตราซาวนด์ ให้แก่ผู้ป่วยเด็ก ณ อาคาร สก ชั้น4
ให้บริการตรวจเอกซเรย์ และอัลตราซาวนด์เต้านม รวมถึงการเจาะชิ้นเนื้อเต้านม ณ อาคาร สธ ชั้น 3
หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยใน
ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป และอัลตราซาวนด์ผู้ป่วยใน เอกซเรย์ portable รวมถึงอัลตราซาวนด์หลอดเลือด (Color Doppler ultrasound) ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2
ให้บริการตรวจเอกซเรย์ทั่วไปให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 1
หน่วยรังสีร่วมรักษา
ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา ทั้งระบบประสาทและลำตัว
หน่วยฟิสิกส์การแพทย์
ดูแล ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือการตรวจทางรังสีวิทยาในหน่วยงาน รวมทั้งการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการป้องกันรังสีในบุคลากรทางการแพทย์
หน่วยงายภายใต้ฝ่ายรังสีวิทยา
หน่วย advanced imaging
หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยนอก
หน่วยเอกซเรย์ผู้ป่วยใน
หน่วยรังสีร่วมรักษา
หน่วยฟิสิกส์การแพทย์
หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
หน่วยธุรการ
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ทุกวัน
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์
สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
หน่วยไอโซโทปส์ แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ด้วยความช่วยเหลือของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ (IAEA) โดยส่ง Mr. Norman Veall แห่ง Guy’s Hospital, London เข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการใช้สารเรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ โดย Mr. Norman Veall ได้เป็นผู้แนะนำในการจัดหาเครื่องมือ วางโครงงาน และช่วยเหลือในการปฏิบัติงานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเริ่มงานตอนแรกนั้น ทางแผนกรังสีวิทยาไม่มีงบประมาณสำหรับตั้งหน่วยไอโซโทปส์เลย โอรสและธิดา ของ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บริจาคเงินให้ซื้อเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติงานไอโซโทปส์ คือ 1) อุปกรณ์ตรวจวัดที่ประกอบด้วยผลึก NaI ขนาด 1″ x 1″, 2) เครื่องวัดรังสีเบต้าจากตัวอย่างที่เป็นของเหลว และ 3) ขาตั้งสำหรับอุปกรณ์ตรวจวัด และเนื่องจากแผนกรังสีวิทยายังไม่มีสถานที่ จึงได้อาศัยส่วนหนึ่งของห้องชั้นล่าง ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นห้องปฏิบัติการไอโซโทปส์ ทั้งนี้ด้วยความเอื้อเฟื้อของคณะเทคนิคการแพทย์ นอกจากเอื้อเฟื้อสถานที่แล้วยังได้กรุณาให้ยืม Scaler 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเครื่องแก้วและอุปกรณ์อื่นๆในห้องปฏิบัติการอีกด้วย
งานเริ่มแรกของหน่วยไอโซโทปส์นี้ คือการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และรักษาผู้ป่วยโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษด้วยเรดิโอแอคตีฟไอโอดีน ตรวจหาสาเหตุโรคน้ำในช่องปอด โดยใช้เรดิโอแอคตีฟฟอสฟอรัส การใช้เรดิโอแอคตีฟโบรมีน ในการหา Extracellular Fluid ในคนปกติ และการหา Red Blood Cell Survival โดยใช้เรดิโอแอคตีฟโครเมี่ยม
กิจการได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านบริการของโรงพยาบาล และด้านค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องย้ายห้องปฏิบัติการจากชั้นล่างของตึกเทคนิคการแพทย์ไปอยู่ชั้น 3 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2503 ซึ่งมีพื้นที่มากขึ้นเป็นห้องปฏิบัติการและห้องทำงานของหน่วยไอโซโทปส์ และประมาณช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น Mr. J.D. Pearson แห่ง Guy’s Hospital London ผู้เชี่ยวชาญการใช้สารเรดิโอแอคตีฟทางการแพทย์อีกผู้หนึ่งของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ ได้เข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำประจำอยู่ที่หน่วยไอโซโทปส์ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ตลอดระยะเวลานี้ Mr. J.D. Pearson ได้ช่วยเหลือในด้านการปฏิบัติงาน แนะนำในการจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติม ได้ให้การบรรยาย และสอนแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวิชาที่ว่าด้วยการใช้เรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ กิจการของหน่วยไอโซโทปส์ ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทางแผนกรังสีวิทยาก็ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อซื้อเครื่องมือใช้เพิ่มขึ้น
ปี พ.ศ. 2506 ได้มีการเปิดตึกใหม่คือ ตึกสวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง การเสด็จนิวัติกลับจากยุโรปและอเมริกาในปี 2503 ดังนั้นหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกใหม่นี้ การที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ทำให้สามารถขยายงานทั้งด้านการตรวจรักษา และการวิจัยมากขึ้น ในปี 2507 จึงได้มีการใช้เรดิโอแอคตีฟโกลด์ชนิดเม็ดในการรักษามะเร็งของช่องปาก กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ และใช้เรดิโอแอคตีฟไอโอดีนในการรักษามะเร็งของต่อมไทรอยด์ ในเวลาเดียวกันนั้นเครื่อง Rectilinear scanner (Picker®) เครื่องแรกของหน่วยก็ได้รับการติดตั้ง โดยใช้ในการตรวจไทรอยด์และตับเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงนั้นทางหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีบุรุษพยาบาลทำหน้าที่ให้สารกัมมันตรังสีแก่ผู้ป่วยภายใต้การควบคุมของรังสีแพทย์ ควบคุมเครื่องอัพเทคและเครื่องสแกน และมีนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ และช่วยดูแลงานสแกนภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
ในปี พ.ศ. 2518 หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกโปษยานนท์ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานด้านการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนจึงสามารถขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ส่วนงานด้านการรักษาพยาบาลนอกจากให้บริการแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ยังให้บริการแก่แพทย์จากสถาบันอื่นๆอีกด้วย และยังมีการเริ่มงานห้องปฏิบัติการ Radioimmunoassay และ Immunoradiometric assay ซึ่งให้บริการตรวจหาฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ tumor marker และ serum iron นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งห้องปลอดเชื้อเพื่อติดฉลากเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว และยังใช้สำหรับเตรียมและผลิตสารเภสัชรังสี ซึ่งสารเภสัชที่ผลิตได้เอง เช่น DTPA, DMSA, MDP, Phytate เป็นต้น
เมื่อมีการให้บริการที่หลากหลายขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์” เป็น “สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์” เพื่อให้สามารถครอบคลุมวิทยาการที่หลากหลายมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2529 เริ่มมีนักรังสีเทคนิคมาปฏิบัติงานทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำเข้ามาใช้ในสาขาฯ ซึ่งในขณะนั้นคือเครื่อง SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) ซึ่งได้ติดตั้งในปี พ.ศ. 2531 บุคลากรต่างๆได้รับการสนับสนุนให้ไปฝึกอบรมในระดับชาติและนานาชาติ (IAEA fellowship) ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนางานรังสีเทคนิคสำหรับงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และในปี 2531 นั้นเองที่ทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทำให้วิทยาการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
เมื่องานบริการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีมากขึ้น จึงมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้น ทางสาขาฯได้บรรจุแพทย์ที่จบการศึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์แทนแพทย์อาวุโสที่เกษียณไปอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักรังสีเทคนิคนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิคเพื่อมาปฏิบัติงานในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์เมื่อเรียนจบอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศักยภาพทั้งการให้บริการและทางด้านวิชาการในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จนได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยในปี พ.ศ. 2556 และปี พ.ศ. 2560 สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน Quality Management Audits In Nuclear Medicine (QUANUM) ครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
วิสัยทัศน์
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้บริการด้วยมาตรฐาน มีคุณภาพและคุณธรรม บริหารจัดการให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
พันธกิจ
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีพันธกิจ ดังนี้
- ให้บริการการตรวจและรักษาด้วยวิธีการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัยและสามารถอ้างอิงได้
- ผลิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักฟิสิกส์การแพทย์และนักรังสีการแพทย์ ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นบุคลากรที่จะนำความรู้ความสามารถ ไปให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ไปให้ความรู้และสอนบุคลากรทางการแพทย์อื่น
- เป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมและดูงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ
รางวัลและความภาคภูมิใจศูนย์
1. ด้านงานวิชาการ
เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ เป็นแกนนำในด้าน Nuclear Neurology ของประเทศ โดยได้จัด National Training Course in Nuclear Neurology 2 ครั้งในปี 2560 และ 2561, ตีพิมพ์หนังสือ “เวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรคสมอง” ในปี 2561 ซึ่งเป็นหนังสือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรคสมองเล่มแรกของประเทศไทย และเป็นแกนนำในการจัดทำแนวเวชปฏิบัติการส่งตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในระบบประสาท ในนาม สมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ร่วมกับ สมาคมประสาทวิทยา, ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์ และสมาคมนักฟิสิกส์การแพทย์ ในปี 2562-2564
เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้ร่วมมือกับสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาในการจัดทำตำราชือ “รังสีวิทยา: เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา” ซึ่งตำราเล่มนี้นับเป็นตำราภาษาไทยเล่มแรก ๆ ที่กล่าวถึงวิทยาการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ครอบคลุมโรคที่พบบ่อย เหมาะสำหรับนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านใช้ประกอบการเรียน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลที่สนใจทั่วไป
2. ด้านงานบริการ
เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญในคุณภาพของการให้บริการโดยมุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นจุดกลางและการดูแลอย่างเอื้ออาทร จึงจัดให้มีโครงการชื่อว่า “สร้างสุขทุกนาที…เพื่อผู้ป่วยเด็กระหว่างการรอตรวจ” ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครองเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกลัวและความวิตกกังวล ส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กให้ความร่วมมือในการตรวจ
โดยโครงการนี้ได้รับ“รางวัลชมเชยและรางวัลขวัญใจมหาชน” จากการประกวดโครงการพัฒนาคุณภาพงาน ประจำปี 2562 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ประชาชน
เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ เน้นถึงความสำคัญในพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะ “การพัฒนางานประจําสู่งานวิจัย (Routine to Research)” ซึ่งผลลัพธ์ของงานวิจัย/นวัตกรรมดังกล่าว จะนำมาซึ่งการปรับปรุงกระบวนการทํางานและการบริการให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการประคบเย็นสำหรับผู้ป่วย เรียกว่าหน้ากากประคบเย็น “CARE MASK” โดย ผศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชร (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 13043) หน้ากากนี้ใช้สำหรับประคบเย็นบริเวณต่อมน้ำลาย เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวมของต่อมน้ำลายที่เกิดการอักเสบจากการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีนในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ลดอาการปวดและบวมของฟันและเหงือกภายหลังการผ่าตัดทางทันตกรรม ลดอาการปวดและบวมบริเวณกรามและคางภายหลังการผ่าตัด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องใช้มือในการประคองอุปกรณ์ให้ความเย็นในระหว่างทำการประคบ ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำงานหรือกิจวัตรต่างๆได้ในขณะที่ทำการประคบเย็น
โครงสร้างของศูนย์
การให้บริการของศูนย์
1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีอาการบ่งชี้ทางคลินิก โดยมีข้อดีที่สำคัญคือสามารตรวจได้ถึงระดับโมเลกุลซึ่งเป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของร่างกาย แพทย์จึงสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค และวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
การเตรียมตัวก่อนตรวจ การตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีวิธีการที่หลากหลายตามอวัยวะที่จะตรวจ จึงต้องการการเตรียมตัวที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยควรสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และแพทย์ที่ทำการตรวจรักษา และศึกษาข้อควรปฏิบัติจากเอกสารคำแนะนำให้ครบถ้วนตามการตรวจแต่ละประเภทวิธีการตรวจ
2. การตรวจความหนาแน่นของกระดูก
เป็นการตรวจจะใช้เครื่องที่เรียกว่า Bone densitometer ซึ่งเป็นเครื่องมือการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง เครื่อง Bone densitometer มีหลายแบบ แต่ที่นิยมใช้คือแบบที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner หรือ DEXA scanner ตำแหน่งที่ตรวจ คือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และบริเวณข้อมือ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่พบว่ามีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย
3. ไทรอยด์คลินิก
มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งต่อมไทรอยด์มักเป็น ชนิด papillary และ follicular ซึ่งสามารถรักษาได้และผลการรักษาอยู่ในระดับดีมาก ดีมากในทีนี้คือมีรายงานว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นระยะ 20 ปี มีสูงถึงประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูงมาก ซึ่งเมื่อเทียบมะเร็งทั่วๆไป การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิด จะประกอบด้วย
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
- การรับประทานสารรังสีไอโอดีน : หลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้วต้องรักษาต่อด้วยวิธีการรับประทานสารรังสีไอโอดีน (I-131) ซึ่งปัจจุบันรังสีไอโอดีนมี 2 รูปแบบ คือแบบเม็ดแคปซูล และ ของเหลว
- การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ : หลังการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
คลินิกในเวลาราชการ
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A - ไทรอยด์คลินิก
ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 3 โซน A
โครงการตรวจนอกเวลาราชการ
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 16.00 – 19.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A
คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจความหนาแน่นของกระดูกและไทรอยด์คลินิก
ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 16.00 – 19.00 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 12.00 น.
ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
เวชศาสตร์นิวเคลียร์
เบอร์โทรศัพท์
02-256-4000 ต่อ 80233, 80234
02-256-4000 ต่อ 80301, 80302 (ไทรอยด์คลินิก ในเวลาราชการเท่านั้น)
เว็บไซต์หน่วยงาน