สิวในเด็ก
สิวในเด็กพบได้ในช่วงที่เป็นทารกแรกคลอดตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด และทารกวัย 3-6 เดือน อาจพบสูงได้ถึงร้อยละ 20 ของทารกแรกคลอดปกติ พบในเด็กผู้ชายได้มากกว่าในเด็กผู้หญิง
🗣สาเหตุ
สิวในช่วงทารกแรกเกิด เกิดจากการกระตุ้นต่อมไขมันโดยฮอร์โมนของมารดาที่ผ่านมาทางรกหรือของทารกเองที่สร้างจากต่อมหมวกไตหรือลูกอัณฑะในเด็กผู้ชาย
🗣อาการของโรค
สิวมีลักษณะเป็น ตุ่มนูนกลม เล็ก สีเดียวกับผิวหนังเรียกว่าสิวหัวปิด บางตุ่มอาจมีจุดดำอยู่ตรงกลาง เรียกว่าสิวหัวเปิด บางครั้งมีการอักเสบเป็นตุ่มหนอง ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ สิวมักจะอยู่บริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ได้แก่ หน้า คอ หน้าอกและส่วนบนของหลัง
🗣วิธีการรักษา
เนื่องจากสิวเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศ มีการดำเนินโรคนาน การรักษาควรเน้นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับสิว เป็นเรื่องสำคัญ
- สิวในทารกไม่จำเป็นต้องรักษา จะหายไปได้เอง
- การแกะสิวหรือการกดสิว เป็นเพียงแค่ทำให้สิวที่อยู่บนใบหน้าหายไป แต่ไม่ได้ทำให้การเกิดสิวลดลง และจะทำให้เกิดการอักเสบและมีโอกาสกลายเป็นแผลเป็นมากขึ้น
สิ่งสำคัญคือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ถึง 7 ปีไม่ควรมีสิว ถ้าเด็กมีสิวในวัยนี้จำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อสืบหาสาเหตุของการเกิดสิว ซึ่งมักจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน
ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2563
ที่มา : ศ.พญ. ศิริวรรณ วนานุกูล