เมื่อใดควรพาลูกรักไปตรวจสายตา

เมื่อใดควรพาลูกรักไปตรวจสายตา

การมองเห็นส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็กเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองจึงไม่ควรละเลย เพราะเด็กเล็กไม่สามารถบอกความผิดปกติของตนเองได้ ดังนั้นการพาเด็กเล็กไปตรวจสายตาจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เด็กมีสุขภาพสายตาที่ดี พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย

การตรวจสายตาในเด็ก แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ 

1. ช่วงวัยทารก – วัยหัดเดิน อายุ 0 – 2 ปี 

  • ในรายที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ควรได้รับการประเมินจอประสาทตาตั้งแต่หลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์
  • เด็กทุกคนควรได้รับการตรวจการมองเห็น คัดกรองโรคสายตาขี้เกียจ และภาวะตาเขเมื่ออายุครบ 1 ปี 

อาการที่ต้องพามาพบจักษุแพทย์

  • ตาสั่น 
  • ตาเข ตาเหล่ ตาส่อน
  • ไม่จ้องหน้าผู้ปกครองแม้อายุครบ 3 เดือน 
  • มีขี้ตาหรือน้ำตาเอ่อตลอดเวลา 
  • หนังตาตกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง 
  • มีตาดำใหญ่ผิดปกติและแพ้แสง

2. วัยก่อนเข้าเรียน อายุ 2 – 5 ปี  เป็นวัยที่ใช้สายตามากขึ้น เด็กให้ความร่วมมือในการตรวจดีขึ้น ทำให้การตรวจวัดระดับการมองเห็นแม่นยำมากขึ้น สามารถตรวจคัดกรองโรคสายตาขี้เกียจ และการตรวจภาวะตาเขได้ดีมากขึ้น

อาการที่ต้องพามาพบจักษุแพทย์

  • มองไม่ชัด ต้องเอียงหน้าเวลามองดู
  • ตาเข ตาเหล่ ตาส่อน กระพริบตาบ่อย ๆ
  • มีปัญหาด้านการเรียน

3. วัยเรียน อายุ 5 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ใช้สายตาไปกับหน้าจอเป็นเวลานาน จึงควรได้รับการตรวจภาวะสายตาผิดปกติ และภาวะสายตาขี้เกียจเป็นประจำทุกปี โดยเข้ารับการประเมินดังต่อไปนี้

  • ตรวจการมองเห็นหรือพฤติกรรมการมองเห็น
  • ตรวจระดับการมองเห็น 
  • ประเมินการเคลื่อนไหวของตา
  • ตรวจส่วนด้านหน้าของลูกตา ได้แก่ เยื่อบุตา กระจกตา ม่านตา และเลนส์ตา
  • ประเมินค่าสายตา
  • ตรวจวัดความดันลูกตา 
  • ถ่ายภาพจอประสาทตา
  • ประเมินการมองเห็นภาพสามมิติ 
  • ประเมินตาบอดสี 

การเตรียมตัวตรวจสายตาสำหรับเด็กเล็ก

  1. เลือกวันตรวจเป็นวันที่สุขภาพดี ไม่มีไข้ และไม่ต้องใช้สายตามากในวันรุ่งขึ้น
  2. เตรียมแว่นตาดำ หรือหมวกมาใส่หลังการตรวจสายตา
  3. หยอดยาคลายการเพ่งเพื่อวัดสายตาทุก 5 ถึง 10 นาที ก่อนเข้ารับการตรวจวัดสายตาประมาณ 30 นาที
  4. งดกิจกรรมกลางแจ้ง และเลี่ยงแสงไฟที่สว่างมาก ๆ หลังการตรวจสายตา

ความผิดปกติในการมองเห็นของเด็กในช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 8 ปี เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ย่อมช่วยลดความรุนแรง และปัญหาการมองเห็นในระยะยาว ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจพาเด็กเล็กไปตรวจตาเป็นประจำทุกปีและปฏิบัติตามคำแนะนำของกุมารจักษุแพทย์ 

ข้อมูลโดย : อ.พญ.วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล 
ฝ่ายจักษุวิทยา
ข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2566