โปรตีนกับโรคไต กินอย่างไรให้สมดุล
การรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา ถั่วประเภทต่าง ๆ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ในผู้ที่ไตมีการทำงานเสื่อมไปบางส่วน อาจเร่งการดำเนินของโรคไตให้เร็วขึ้นได้ เพราะอาหารเหล่านี้ ประกอบไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีนสูง ทำให้เลือดในร่างกายมีความเป็นกรดมากขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อขับยูเรียซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีนและเพิ่มการขับกรดออกจากร่างกาย
– ผู้ป่วยไตเสื่อมในระยะก่อนฟอกไต ควรรับประทานโปรตีนในแต่ละวัน ให้น้อยกว่าคนปกติเล็กน้อย คือ ประมาณ 0.6 – 0.8 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน
– ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไตแล้ว ควรรับประทานโปรตีนในแต่ละวัน เพิ่มมากกว่าคนปกติ คือ ประมาณ 1.0-1.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน เนื่องจากร่างกายสูญเสียโปรตีนไปบางส่วนจากกระบวนการฟอกไต
ตัวอย่างปริมาณโปรตีนในอาหารประเภทต่าง ๆ
อกไก่ (100 กรัม) | โปรตีน 23 กรัม |
เนื้อหมู (100 กรัม) | โปรตีน 23 กรัม |
ไข่ไก่ (1 ฟอง) | โปรตีน 7 กรัม |
ไข่ขาว (2 ฟอง) | โปรตีน 7 กรัม |
เนื้อกุ้ง 3 -5 ตัว | โปรตีน 7 กรัม |
การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนที่เหมาะกับระยะของโรคไต ควรควบคู่ไปกับการได้รับพลังงานจากสารอาหารอื่นอย่างเพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายสามารถดึงโปรตีนไปใช้ได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลโดย
รศ.พญ.ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม
ฝ่ายอายุรกรรมโรคไต
ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566