จับตา “ฝีดาษลิง” …โรคที่ยังไม่หายไปและอาจกระจายเป็นวงกว้าง
โรคฝีดาษลิง (Monkey MPOX) ยังคงเป็นโรคติดเชื้อที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และอาจกระจายเป็นวงกว้างได้ หากไม่มีการเฝ้าระวังหรือป้องกัน
แม้โรคนี้จะมีอัตราเสียชีวิตต่ำ แต่เมื่อเป็นแล้วจะสร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ร่างกายเป็นอย่างมาก
พาหะนำโรค สัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ เช่น กระรอก กระต่าย หนู
การติดต่อของฝีดาษลิง
จากสัตว์สู่คน
– การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ การข่วน
จากคนสู่คน
– การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มหนอง
– สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยฝีดาษลิงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
– ติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรงเวลามีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
อาการของโรคฝีดาษลิง
ระยะแรก หลังจากรับเชื้อ และภายใน 5 วัน
ผู้ป่วยราว 60% มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโต แต่ในผู้ป่วยบางคน อาจไม่มีอาการในระยะแรกก็ได้
ระยะที่สอง หลังจากมีไข้
มีผื่นหรือตุ่มแบนขึ้นตามตัว เช่น ใบหน้า แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เยื่อบุตา เยื่อบุช่องปาก และอวัยวะเพศ จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นผื่นนูนแสบคัน ตุ่มหนองแตก ซึ่งเป็นช่วงของการแพร่เชื้อต่อไปได้
การรักษา
– การรักษาตามอาการ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
– ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์
-กรณีที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้อาการของโรครุนแรง
การป้องกัน
– หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
– งดเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือในสถานที่เสี่ยง เช่น ซาวน่า
– การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้
ข้อมูลโดย รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ
ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก
ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2567