การดื่มน้ำน้อย ทำให้เกิด “ภาวะเลือดข้น” จริงหรือไม่?

การดื่มน้ำน้อย ทำให้เกิด “ภาวะเลือดข้น” จริงหรือไม่?
ภาวะเลือดข้น 
ภาวะเลือดข้น คือภาวะที่เลือดมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงสูงผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ยากกว่าปกติ และเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่าง ๆ 
การดื่มน้ำน้อย ทำให้เกิด “ภาวะเลือดข้น” จริงหรือไม่?
ไม่จริง เนื่องจากภาวะเลือดข้นมักเกิดจากการสร้างเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ แม้ว่าในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงอาจจะทำให้เลือดข้นขึ้นกว่าปกติได้ แต่การดื่มน้ำน้อยเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง 
จึงสรุปได้ว่า การดื่มน้ำน้อย ไม่ทำให้เกิด “ภาวะเลือดข้น” 

ปริมาณน้ำดื่มที่พอเหมาะ 

ในคนปกติ ร่างกายจะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรักษาสมดุลได้เป็นอย่างดี หากดื่มน้ำอย่างน้อย 500-600 ซีซี และไม่เกิน 3-4 ลิตรต่อวัน ร่างกายก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ จึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเรื่องการดื่มน้ำจนเกินไป 

แนะนำให้ดื่มน้ำวันละประมาณ 1-2 ลิตรต่อวัน

ข้อแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • หากรู้สึกกระหายน้ำ แสดงว่าร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเพื่อเติมน้ำให้กับร่างกาย 
  • หากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายมากกว่าปกติ เช่น เสียเหงื่อมาก หรือ ท้องเสีย ควรได้รับทั้งน้ำและเกลือแร่เพื่อชดเชยกับที่สูญเสียไป
  • ปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมในผู้ป่วย ขึ้นกับโรคประจำตัวที่เป็นและสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำรวดเดียวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากร่างกายอาจไม่สามารถขับน้ำส่วนเกินออกได้ทัน 

ข้อมูลโดย : รศ.(พิเศษ) นพ.พิสุทธิ์ กตเวทิน หน่วยโรคไต ฝ่ายอายุรศาสตร์

ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2566