ปัสสาวะเล็ดบ่อย สัญญาน “อุ้งเชิงกรานหย่อน”
อุ้งเชิงกราน ประกอบด้วย เส้นใยกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ คอยยึดพยุงอวัยวะในช่องท้อง ได้แก่ มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และทวารหนัก ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งเกิดการหย่อนคล้อยได้เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรหลายคน ภาวะหมดประจำเดือน โรคอ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น ไอเริ้อรังจากโรคปอด ท้องผูก รวมถึงกิจกรรมที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว เช่น ยกของหนัก เป็นต้น
อาการภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน
- รู้สึกถ่วงตุงในช่องคลอด
- ปัสสาวะเล็ดออกมาโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเวลาไอ หรือจาม
- ปัสสาวะออกลำบากต้องใช้นิ้วดันช่องคลอดที่ยื่นกลับเข้าไปก่อนจึงจะปัสสาวะได้ปกติ
- ปวดหน่วงท้องน้อย
- มีตกขาวผิดปกติ
- รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ
- มีเลือดไหล หรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
การรักษาอุ้งเชิงกรานหย่อน หากเป็นไม่มาก สามารถรักษาแบบประคับประคองได้ โดยการออกกำลังบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้กระชับ
วิธีค้นหาตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
ขั้นตอนสำคัญที่สุดของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คือ การรู้ตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เราจะบริหาร โดยวิธีต่างๆ ต่อไปนี้
- ลองพยายามหยุดการไหลของปัสสาวะตอนที่ปัสสาวะอยู่ จนสามารถจำได้ว่าต้องขมิบอย่างไรถึงถูกจุด (ทำเมื่อต้องการหาตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เราจะบริหารเท่านั้น หากทำทุกครั้งที่ปัสสาวะ อาจทำให้เกิดทางเดินปัสสาวะติดเชื้อได้)
- ลองสอดนิ้วเข้าในช่องคลอดแล้วขมิบบีบกล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องคลอด ให้บีบนิ้วที่สอดเข้าไปจนนิ้วรู้สึกได้
วิธีฝึกขมิบกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด
สามารถทำได้ในท่านอนราบ ท่านั่งบนเก้าอี้ และท่ายืนตามลำดับ
- ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไว้ 1-2 วินาทีแล้วคลาย เป็นจำนวน 5 ครั้ง
- ต่อด้วยขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้เป็นเวลา 5-10 วินาทีแล้วคลายออก อีก 5 ครั้ง
- เมื่อทำครบทั้ง 3 ท่า จะเรียกว่า 1 ชุด โดยให้กายบริหารวันละ 2 ชุด ในช่วงเช้า และช่วงเย็น
ข้อมูลโดย : อ.นพ.พีร์ พบพาน
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2567