โรคโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์
สตรีตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป แม้ว่าสตรีตั้งครรภ์ร้อยละ 80 มักไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แต่เมื่อมีอาการป่วยรุนแรง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตการรับเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติ การใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าสตรีไม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะอ้วน และอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น
ผลต่อทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อโควิด-19
สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อในไตรมาสแรก (อายุครรภ์ต่ำกว่า 14 สัปดาห์) ไม่พบหลักฐานว่าเพิ่มโอกาสแทงบุตรหรือความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ แต่หากติดเชื้อในอายุครรภ์ตรมาสที่ 2-3 (อายุครรภ์มากกว่า14 สัปดาห์) มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และทารกตายคลอดเพิ่มขึ้น
การถ่ายทอดเชื้อโรคโควิด-19 จากมารดาสู่ทารก สามารถติดต่อได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด หลังคลอด และระยะให้นมบุตรแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และส่วนใหญ่ของทารกที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ
คำแนะนำจากแพทย์
- การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญที่สุด คือ การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัยการล้างมือเป็นประจำ และการได้รับวัคซีน
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจฝากครรภ์และตรวจหลังคลอดตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- เพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรค ควรหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านพิจารณาการทำงานที่บ้านหรือเปลี่ยนตำแหน่งงาน หากงานนั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคโควิด-19 สูงโดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ หรือมีโรคในกลุ่มเสี่ยง
- ควรจำกัดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมระหว่างและหลังคลอด และบุคคลดังกล่าวต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด
- หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย มีอาการป่วยของโรคโควิด-19 หรือเป็นผู้สัมผัสโรคความเสี่ยงสูง ให้ติดต่อคลินิกฝากครรภ์ของท่าน เพื่อรับคำแนะนำ
ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564
ที่มา : อ. นพ.นพดล ไชยสิทธิ์