โรคเกี่ยวกับหูที่พบบ่อย รู้ก่อน ป้องกันก่อน
“หู” เป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่ในการได้ยินเสียงและการทรงตัวของร่างกาย หากการทำงานของหูผิดปกติย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บั่นทอนคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้
โรคเกี่ยวกับหูที่พบบ่อย
1. น้ำในหูไม่เท่ากัน
เกิดจากการที่ร่างกายสร้างน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ หรือมีการระบายน้ำในหูได้น้อยลง มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการ
- เวียนศีรษะ บ้านหมุน เป็นเวลา 20 นาทีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง
- มีอาการบ้านหมุนมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป
- มีระดับการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นโรค โดยจะสูญเสียการได้ยินเสียงที่ความถี่ต่ำ (เสียงทุ้ม) ระดับการได้ยินขึ้น ๆ ลง ๆ
- มีเสียงรบกวนในหูลักษณะต่าง ๆ อาจดังบ้าง เบาบ้าง
- มีอาการแน่นหู หูอื้อ
2. ตะกอนหินปูนในหูหลุด
เกิดจากผลึกหินปูนในหูชั้นใน ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาการทรงตัวของร่างกาย มีการเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งเดิม
อาการ
เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่าง ๆ หินปูนที่หลุดออกมาจะกลิ้งไปตามการขยับของศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุน สัมพันธ์กับการขยับศีรษะหรือเปลี่ยนท่าทาง โดยระยะเวลาในการเกิดอาการบ้านหมุนส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที โดยที่การได้ยินยังเป็นปกติ
3. การสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูเสื่อม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการได้ยินลดลงอาจเกิดขึ้นตามวัย และยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมได้ โดยเกิดจากความเสื่อมสภาพของประสาทหูชั้นใน นอกจากนี้อาจเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง การสัมผัสเสียงดังมาก ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถทำให้สูญเสียการได้ยินได้เช่นกัน
อาการ
- การได้ยินลดลง
- ในบางรายอาจมีอาการเสียงรบกวนในหู (Tinnitus) เช่น เสียงวี้ด เสียงคล้ายจิ้งหรีด หรือเสียงหึ่ง ๆ ซ่า ๆ เป็นต้น
4. ประสาทหูเสื่อมฉับพลัน
เป็นอีกหนึ่งในโรคทางหูที่สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วยอย่างมาก มักเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่ง การสูญเสียการได้ยินเกิดขึ้นทันที หรือที่เรียกว่า “หูดับ” มักไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ที่ประสาทหูเสื่อมฉับพลันมีโอกาสหายได้ หากมาพบแพทย์หู คอ จมูก และได้รับการรักษาในเวลาที่รวดเร็ว
อาการ
- ได้ยินเสียงเบาลงทันทีในระยะเวลา 72 ชั่วโมง
- บางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู
- บางรายมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย
เรื่อง : ผศ.พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
ข้อมูล ณ วันที่ : 19 เมษายน 2566
ที่มา : https://www.chula.ac.th/highlight/60964/