สำลัก อาการอันตรายในผู้สูงวัย
การสำลัก เป็นอาการที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้ การสำลักยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดบวม ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนและการสำลักในผู้สูงวัย
- สำลักหลังจากกลืนอาหาร อาจเกิดเพียงไม่กี่นาทีหลังจากกลืนอาหาร แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วง 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหารเช่นกัน
- สำลักเงียบ เป็นการสำลักแบบไม่ไอหรือไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เศษอาหารเล็ก ๆ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรียในช่องปากไหลลงไปในหลอดลม จนทำให้ปอดติดเชื้อหรือปอดบวม
- ภาวะกลืนลำบาก เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน สังเกตได้จากการรับประทานอาหารได้ช้าลง มีน้ำลายไหลมากขึ้น หรือมีอาหารค้างในลำคอ รวมถึงอาจกลืนไม่หมด ทำให้มีเศษอาหารตกค้างในช่องปากได้
แนะนำวิธีลดความเสี่ยงจากการสำลัก
- บริหารกล้ามเนื้อคอ โดยใช้ท่าก้มเงยศีรษะช้า ๆ และท่าเอียงศีรษะไปทางซ้าย-ขวา แต่ละท่าค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง
- บริหารกล้ามเนื้อปาก ออกเสียงอา อู อี โอ เอ ค้างไว้คำละ 5 วินาที ทำซ้ำคำละ 5 ครั้ง
- รับประทานอาหารช้า ๆ ไม่ดื่มน้ำเร็วเกินไป และควรกลืนยาทีละเม็ด ไม่กลืนหลายเม็ดพร้อมกัน
- จัดท่าให้ก้มหน้าให้คางชิดหน้าอก แล้วค่อยกลืน
ปัจจุบัน มีนวัตกรรมช่วยลดเสี่ยงจากการสำลักอย่าง “แก้วน้ำกันสำลัก” ที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องเงยคอ ทั้งยังสามารถดื่มน้ำได้ในปริมาณและในท่าทางที่เหมาะสม
- สิทธิบัตรออกแบบ เลขที่คำขอ 2402000889 ชื่อ แก้วน้ำ
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 2401001818 ชื่อ แก้วกันสำลักสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ข้อมูลโดย : ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ
ข้อมูล ณ วันที่ : 16 ตุลาคม 2567