ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง “โรคกระดูกพรุน”

ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง “โรคกระดูกพรุน”

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่มีความหนาแน่นของกระดูกและคุณภาพของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง ทำให้กระดูกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ถือเป็นภัยเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ จะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

  1. อายุ โดยเฉพาะผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีและผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  2. โรคหรือภาวะที่ทำให้ความหนาแน่นกระดูกลดลง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
  3. รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้ความหนาแน่นกระดูกลดลง เช่น รับประทานยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  4. สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  5. ขาดการออกกำลังกาย

การตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
การตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่อง DXA เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่ใช้วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยตำแหน่งที่ใช้ตรวจคือ บริเวณกระดูกสันหลังระดับเอว และกระดูกสะโพก หรือบางครั้งอาจมีการตรวจที่บริเวณกระดูกแขนส่วนปลาย

การป้องกันโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้ดังนี้

  1. แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะ
    1.1 อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้ ผักใบเขียว
    1.2 อาหารที่มีวิตามินดี เช่น น้ำมันตับปลา เห็ดหอม ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน
  2. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่ง รำไทเก๊ก แนะนำเป็นช่วงเช้า หรือเย็นที่มีแสงแดดอ่อนๆ เพราะจะช่วยเพิ่มวิตามินดีให้ร่างกายได้ด้วย
  3. งดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

คำแนะนำจากแพทย์
ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน หรือเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกตามความเหมาะสม เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

ข้อมูลโดย : รศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2567