ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง “โรคกระดูกพรุน”
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่มีความหนาแน่นของกระดูกและคุณภาพของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง ทำให้กระดูกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ถือเป็นภัยเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ จะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- อายุ โดยเฉพาะผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีและผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
- โรคหรือภาวะที่ทำให้ความหนาแน่นกระดูกลดลง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
- รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้ความหนาแน่นกระดูกลดลง เช่น รับประทานยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกาย
การตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
การตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่อง DXA เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่ใช้วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยตำแหน่งที่ใช้ตรวจคือ บริเวณกระดูกสันหลังระดับเอว และกระดูกสะโพก หรือบางครั้งอาจมีการตรวจที่บริเวณกระดูกแขนส่วนปลาย
การป้องกันโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้ดังนี้
- แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะ
1.1 อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้ ผักใบเขียว
1.2 อาหารที่มีวิตามินดี เช่น น้ำมันตับปลา เห็ดหอม ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน - ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่ง รำไทเก๊ก แนะนำเป็นช่วงเช้า หรือเย็นที่มีแสงแดดอ่อนๆ เพราะจะช่วยเพิ่มวิตามินดีให้ร่างกายได้ด้วย
- งดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน หรือเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกตามความเหมาะสม เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
ข้อมูลโดย : รศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2567