โรคโควิด-19 กับผู้ป่วยมะเร็ง

โรคโควิด-19 กับผู้ป่วยมะเร็ง

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสรับเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาล เช่น มารับยาเคมีบำบัด อีกทั้งเมื่อผู้ป่วยมะเร็งติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกช้อนและเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว และเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19 อาจจะทำให้การรักษาโรคมะเร็งเองต้องหยุด หรือชะลอการรักษาออกไป

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ป่วยมะเร็งมักมีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจเกิดจากตัวโรคมะเร็งเอง หรือเกิดจากการรักษาที่ได้รับ เช่น ยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยมะเร็งส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุและอาจมีโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมทำให้มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19

วัคซีนโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งชนิดก้อน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทันทีที่มีโอกาส ผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดยามุ่งเป้า ยาต้านฮอร์โมน ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ไม่ใช่ข้อห้ามในการรับวัคซีน และควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน
ผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก เซลล์บำบัด หรือได้รับยามุ่งเป้ากลุ่ม Rituximab ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

คำแนะนำจากแพทย์

ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนรวมทั้งญาติและผู้ดูแล ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังควรปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และการดูแลสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19

ข้อมูล ณ วันที่ 13 กันยายน 2564
ที่มา : อ. พญ.นุสรา ภาคย์วิศาล