การป้องกันการติดโรคโควิด-19 แบบครอบจักรวาล(Universal Prevention)
ปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ใกล้ชิดในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในชุมชน โดยมีข้อมูลยืนยันว่าผู้ติดเชื้อแบบแฝงหรือแบบไม่แสดงอาการมีจำนวนมากกว่าประมาณ 5-6 เท่าของผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน
ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แม้ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและลดโอกาสในการเสียชีวิตลง แต่ยังสามารถติดโรคโควิด-19 ได้ แนะนำให้ป้องกันการติดโรคโควิด-19 แบบครอบจักรวาล ดังนี้
- ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
- เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตรในทุกสถานที่
- สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่หนาเพียงพอ
- ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำหลังจากไอหรือจาม หรือหลังจากสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
- ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีและผู้มีโรคเรื้อรัง ให้เลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น โดยให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุดและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในบริเวณพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด และไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
- เลือกรับประทานอาหารปรุงสุก ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว
- งดเดินทางไปเยี่ยมญาติ หากมีความจำเป็น ควรเว้นระยะห่าง อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท และสวมหน้ากากตลอดเวลา
- หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย Antigen test kit หรือไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
ที่มา
รศ. นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ.ดร.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. นพ.กำรธ มาลาธรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาริบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2564