คลังความรู้สู้โควิด-19

คลังความรู้สู้โควิด เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จากผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงแนวทางและการรับมือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกด้วย 


ที่มาของโรคโควิด-19

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ล่าสุดที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก โดยมีที่มา ดังนี้

    • เริ่มขึ้นราวเดือนพฤศจิกายน ปี พ.. 2562 เกิดจากการแพร่เชื้อจากสัตว์คือ ตัวนิ่ม(ซึ่งได้รับเชื้อจากค้างคาวมาอีกต่อหนึ่ง) มาสู่คน
    • ในต้นเดือนธันวาคม ปี พ.. 2562 เกิดการแพร่เชื้อจากคนสู่คนด้วยกัน โดยคนแรกติดเชื้อที่ตลาดสดอู่ฮั่น ในประเทศจีน 
    • ต่อมามีการแพร่ไปทั่วประเทศจีนซึ่งเป็นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสจากคนสู่คนด้วยกันเองโดยในช่วงแรกเชื้อไวรัสโคโรนายังเป็นชนิดเอสแต่ต่อมาช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.. 2562 ถึงเดือนมกราคม พ.. 2563 ไวรัสโคโรนาเริ่มพัฒนา ตนเองและมีความซับซ้อนทั้งทางอณูชีววิทยาและการแพร่ระบาดมากขึ้นซึ่งทางการแพทย์เรียกไวรัสโคโรนาระยะนี้ว่า “ตัวแอล”
    • จากนั้นได้แพร่กระจายไปเรื่อยๆจากคนสู่คน เมื่อได้รับแรงกดดันจากกลไก ของคนที่ติดเชื้อที่พยายามสร้างภูมิคุ้มกัน และจากการที่มีการใช้ยาต้านไวรัส รวมถึงมาตรการของระบบสาธารณสุข ในการกำจัดไวรัสโคโรนา จะมีส่วนหรือมีอิทธิพลทำให้เชื้อไวรัสถดถอยตนเอง และกลายเป็นชนิดเอส ใหม่จนทำให้ปัจจุบันไวรัสโคโรนาซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นไวรัสโควิด-19 มีทั้งตัวแอลและตัวเอสปะปนกันไป

 

อาการของโรคโควิด-19

อาการที่บ่งชี้อาการของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีดังนี้

    • เป็นผู้ที่มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
    • เนื่องจาก โรคโควิด-19 มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆทำให้มีการควบรวมไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมต่างกันเข้าด้วยกันเป็นตัวใหม่ ซึ่งอาจทำให้อาการบ่งชี้ผันแปรไปได้ เช่น จากอาการปอดบวม กลายเป็นไข้สมองอักเสบ และพบเชื้อไวรัสในน้ำไขสันหลังโดยโดยไม่แสดงอาการอื่นๆ

 

การระบาดของโรคโควิด-19

มีการแพร่เชื้อโดยไม่แสดงอาการ โดยการแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุดมาจาก คนหนุ่มสาวที่แข็งแรงและไม่แสดงอาการใดๆ 

มีรายงานอธิบายและยืนยันจากวารสารต่าง ๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับ การแพร่เชื้อโดยไม่แสดงอาการ   ดังนี้

    1. กรณีศึกษาสำคัญในเรือสำราญ ไดมอนด์ปริ้นท์เซส ซึ่งระยะแรกมีการตรวจโรคและพบผู้ติดเชื้อเพียงประมาณ 700 ราย โดยอีก 18% พบว่าไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
    2. รายงานในวารสารScience (ฉบับวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2563) วิเคราะห์สถานการณ์ก่อนวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคมพ.ศ.2563 ว่า ในประเทศจีนยังไม่ได้ห้ามการเดินทาง และพบว่ามีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่าตัวเลขที่รายงานไปแล้วหลายเท่า
    3. วารสารโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (EID วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2563) แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนสูงถึง 12.6% ที่แพร่เชื้อได้ก่อนที่จะแสดงอาการ
    4. วารสารNature (Nature news) วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2563 ตอกย้ำถึงการแพร่เชื้อโดยไม่แสดงอาการ
    5. South China morning post รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2563 ว่าจากการรวบรวมข้อมูลทั้งในประเทศจีนและ เกาหลีใต้พบว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อได้อาจมีจำนวนสูงถึง 30%

 

 

 

การเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19

การเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ทำได้สองวิธี คือ

    1. การวินิจฉัยทางคลินิก
    2. การวินิจฉัยทางอณูชีววิทยา(PCR) 

ซึ่งความท้าทายในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดโรคโควิด-19 หรือไม่นั้นมีข้อจำกัดดังนี้

    • การเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยมาตรวจในบางรายไม่ได้ตัวอย่างที่เพียงพอและเหมาะสมทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ 
    • ความซับซ้อนในการวินิจฉัยจากอาการผู้ป่วยเนื่องจากผู้ป่วยหลายรายไม่บ่งชี้อาการใดๆที่เข้าข่ายของกลุ่มเสี่ยงแต่สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้
    • การวินิจฉัยทางอณูชีววิทยาไม่สามารถตรวจและทราบผลได้อย่างรวดเร็วและผลที่ได้ยังไม่มีความไว100%

ดังนั้น การเฝ้าระวังที่จะสามารถเกิดประสิทธิภาพได้คือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องรู้ข้อจำกัดของการวินิจฉัยและผลจากห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจและมีปฏิภาณในการวินิจฉัยอาการผู้ป่วยแต่ละรายโดยไม่อิงทฤษฎีจนเกินไป

 

การรับมือเมื่อเกิดการระบาดอย่างรุนแรง

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และการระบาดของโรคล่วงหน้าเสมอ  ดังนี้

 1. ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิกและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง มีการทำงานดังนี้

    • มีการประชุมและสรุปความคืบหน้าเป็นประจำทุกเช้า
    • มีการประชุมของคณะผู้บริหาร 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อให้แนวทางการรับมือ และการตรวจรักษาสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก 
    • มีการปรึกษาหารือในคณะทำงานและคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถึงแผนการรับมือต่างๆอย่างรอบคอบรัดกุม

2. ด้านการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

    • มีการแยกคลินิกเฉพาะและหอผู้ป่วยเฉพาะแยกจากผู้ป่วยอื่นๆทั่วไป เพื่อทำการคัดกรอง ตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ 
    • มีการจัดเตรียมห้องผู้ป่วยให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก
    • มีการจัดตำแหน่งจุดที่นั่งผู้ป่วยและแพทย์อย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคลากรการแพทย์ที่ทำการตรวจและผู้มารับการตรวจปลอดภัยในทุกขั้นตอน

3. ด้านหอผู้ป่วย

    • มีหอผู้ป่วยชนิดห้องความดันลบจำนวน 4 ห้อง เพื่อเตรียมรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่ 

อาคารจงกลนี ชั้น

หอผู้ป่วยเพิ่มเติมที่อาคารจงกลนี ชั้น

อาคาร 14 ชั้น ชั้น

อาคารนวมินทราชินูทิศ ชั้น

ในอนาคตหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีแผนที่จะรับผู้ป่วยวิกฤตที่มีอาการรุนแรง ส่วนผู้ป่วยที่อาการเล็กน้อยหรือผู้ที่ต้องกักตัวเฝ้าดูอาการจะส่งต่อให้อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤติจาก โรคโควิด-19เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสให้ได้รัดกุมมากที่สุด

 

 

การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19

  • หน่วยคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการการตรวจโรคโควิด-19  ของโรงพยาบาล อยู่ที่ อาคารจงกลนี ซึ่งผู้ป่วยที่มาเข้าโรงพยาบาลจากจุดอื่น ๆ เช่น หอผู้ป่วยฉุกเฉิน หรืออาคารต่าง ๆ ก็จะส่งตัวผู้ป่วยมาคัดกรองโรคโควิด-19 ที่อาคารจงกลนีทั้งหมด
  • มีการแยกทางเดินและลิฟต์ของผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยปกติ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ปะปนกัน เพื่อให้การคัดแยกและการตรวจรักษาเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนในการคัดกรองและการรักษาผู้ป่วย จะไม่มีการแพร่เชื้อไวรัสสู่บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

  • รณรงค์ให้บุคลากรทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน และล้างมือบ่อย ๆ
  • แต่ละคลินิกจะมีจุดคัดกรองและจุดแยกผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ปะปนกับผู้ป่วยรายอื่น
  • ขยายเวลานัดหมายผู้ป่วยที่ต้องมาพบแพทย์ออกไป เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อโรค
  • มีการสื่อสารให้ประชาชนจำกัดการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อลดความแออัดในห้องผู้ป่วย
  • ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดแต่ละจุดทุก 30 นาที
  • สื่อสารขอความร่วมมือในการงดสนทนาในลิฟต์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเชื้อไวรัสที่อาจฟุ้งกระจายภายในพื้นที่จำกัด 
  • รณรงค์ให้ประชาชนไม่ปกปิดข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลการเดินทาง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

การปฏิบัติตัวเมื่อต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล

  สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ดังนี้ 

    1. สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ
    2. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
    3. กิจกรรมทุกชนิด เช่น การนั่ง การต่อคิว ต้องเว้นระยะห่างผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส
    4. ใช้ทางเดินและลิฟต์ที่ทางโรงพยาบาลกำหนดให้
    5. งดการพูดคุยภายในลิฟต์โดยสาร

  สำหรับผู้ที่มารับการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ดังนี้ 

    1. สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ เมื่อมาติดต่อขอใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล
    2. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
    3. เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ไปติดต่อที่อาคารจงกลนี โดยแจ้งข้อมูลตามจริงอย่างครบถ้วน หากรู้ตัวว่าประวัติการเดินทางของตนมีความเสี่ยง หรือมีอาการที่คล้าย
      อาการของผู้ติดเชื้ออย่างชัดเจน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในทันที

จากการประกาศของรัฐ ระบุว่าหากประชาชนท่านใดจงใจปิดบังข้อมูล หรือปฏิเสธการรักษา จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามกฎหมายมาตรา31 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ
พ.ศ.2558
ดังนั้นเราทุกคนควรให้ข้อมูลตามจริงที่ครบถ้วน นอกจากจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่บุคคลอื่น
ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

การสร้างความเข้าใจในสังคมต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19

เนื่องจากมีบุคคลบางกลุ่มในสังคมออกมาประณามหรือกล่าวโทษผู้ติดเชื้อโควิด-19ว่าเป็นภัยของสังคม เพราะผู้ที่มีความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อหรือเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศอาจ
ตัดสินใจปกปิดข้อมูล หลบเลี่ยงการตรวจ หรือไม่ยอมมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ รวมถึงแสดงความรังเกียจต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายดีแล้วด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างตราบาป(Stigma)
ให้กับผู้ติดเชื้อ และยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ทางที่ดีเราทุกคนควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้ถูกต้องว่า ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้เท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเพศ วัย เชื้อชาติ ฐานะ
แม้กระทั่งคนที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ไม่ต่างกับคนที่มีโรคประจำตัวหรือคนสูงอายุ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่สังคมควรตระหนัก คือ คนทุกคนคือคนไทย จึงไม่ควร
แสดงความรังเกียจกันและกัน 

นอกจากนั้น ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาจนหายดีและกลับไปพักฟื้นที่บ้าน มีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม กักตัวเป็นเวลา 14 วันครบถ้วนตามมาตรการการป้องกันการ
แพร่เชื้อ พวกเขาเหล่านี้ก็จะไม่เป็นผู้แพร่เชื้อแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่บางคนในสังคมอาจไม่ได้ตระหนักถึง คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายดีแล้วกลับจะเป็นผู้สร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม
สามารถบริจาคพลาสมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆ เป็นความหวังของสังคมมากกว่าจะเป็นบุคคลน่ารังเกียจด้วยซ้ำ  

จะเห็นได้ว่า การให้ข้อมูลความรู้และฟื้นฟูความเข้าใจทั้งแก่ผู้ป่วย ญาติ และคนในชุมชน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นข้อเท็จจริงเดียวกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความตระหนักรู้
เพื่อให้เห็นอกเห็นใจกัน จนก่อให้เกิดความร่วมมือและการช่วยเหลือกันและกันมากกว่าความรังเกียจและความรู้สึกแตกแยก อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อกล้าเปิดเผยข้อมูล
และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็มีกำลังใจในการรับการรักษาเพื่อให้หายดีและกลับมาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข 

วิธีการป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19

  1. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกไปพื้นที่สาธารณะ 
  2. ล้างมือด้วยน้ำสบู่และแอลกอฮอล์เจลสม่ำเสมอ
  3. รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น 
  4. แยกตัวออกจากผู้อื่น (Social Distancing)  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมทางโดยสารสาธารณะ ครอบครัว และคนที่อาศัยอยู่ในเคหะสถานเดียวกัน โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
  5.  ไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การรักษาทางทันตกรรม

เนื่องจากการรักษาทางทันตกรรมส่วนใหญ่เข้าข่ายหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอยในอากาศ(Aerosol Generating Procedure : AGP) เช่น การกรอด้วยอุปกรณ์หัวกรอฟัน-
ความเร็วสูง (High speed micromotor) การขูดหินน้ำลายโดยใช้เครื่องอัลตราโซนิก การใช้สายยางเป่าลมหรือน้ำระหว่างการรักษา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝอยละออง
ขนาดเล็กที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่ออกมาพร้อมกับน้ำลายหรือสารคัดหลั่งได้

จากประกาศของกรมการแพทย์เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่องแนวทางปฏิบัติการรักษาทางทันตกรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยถือเป็น
มาตรฐานชั่วคราวนั้น ได้กำหนดให้พิจารณาให้มีการรักษาทางทันตกรรมเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่มีภาวะอันตรายถึงแก่ชีวิต ได้แก่ 

    1. ภาวะเลือดออกที่ควบคุมไม่ได้ 
    2. การอักเสบติดเชื้อที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต 
    3. อุบัติเหตุใบหน้าที่กีดขวางการหายใจ 

ทั้งนี้ให้หลีกเลี่ยงการรักษากรณีเร่งด่วนและแนะนำให้เลื่อนการรักษาที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน โดยหากมีความจำเป็นต้องรักษาไม่ว่ากรณีใดก็ตามจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของหน่วยงาน
รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรต่างๆ ในแง่ของการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคอย่างสูงสุด

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาเลื่อนการรักษาทางทันตกรรมที่ไม่เร่งด่วนออกไปชั่วคราวก่อน อย่างไรก็ตาม การรักษาทางทันตกรรมที่จำเป็นยังสามารถทำได้ภายใต้การป้องกัน
การแพร่กระจายโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้การรักษาทางทันตกรรมมีความปลอดภัยแก่ทั้งผู้ป่วยและทันตบุคลากร