โรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน

โรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน

1. ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

  • โรคเกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ใหล่ คอ พบมากในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก และใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น
  • โรคกลาก มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดงต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า

2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

มีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้ง ๆ ออกน้ำตาล มักเกิดในบริเวณอับชื้นซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเท้าเหม็นที่เกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า

3. โรคน้ำกัดเท้า

มีอาการระคายระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้าและซอกนิ้วเท้า บางรายอาจมีอาการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

4. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

เป็นโรคที่พบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตจากมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ

5. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง

ในฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลงหลากหลายชนิด เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากสัมผัสอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้หากมีอาการแพ้รุนแรงควรพบแพทย์

ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564
ที่มา : ศ. ดร. นพ.ประวิตร อัศวานนท์