“วัคซีน HPV” ป้องกันโรคอะไร? ฉีดกี่ครั้ง ตอนไหนบ้าง ?

“วัคซีน HPV” ป้องกันโรคอะไร? ฉีดกี่ครั้ง ตอนไหนบ้าง ?

วัคซีนเอชพีวี หรือที่เรียกกันว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก 

ปัจจุบันมี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2 สายพันธุ์, ชนิด 4 สายพันธุ์ และชนิด 9 สายพันธุ์

วัคซีนเอชพีวีป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

นอกจากป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ในเพศหญิงยังป้องกันมะเร็งของอวัยวะอื่นได้อีก ได้แก่ 

  • มะเร็งปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด 
  • ทวารหนัก 
  • ช่องปากและคอหอย 

ในผู้ชายวัคซีนสามารถป้องกัน 

  • มะเร็งองคชาติ 
  • ทวารหนัก 
  • ช่องปากและคอหอย 

นอกจากนี้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ และชนิด 9 สายพันธุ์ ยังสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ของอวัยวะเพศและทวารหนักของทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้อีกด้วย

วัคซีนเอชพีวีฉีดอย่างไร

ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป 

ควรฉีดก่อนถึงวัยที่มีเพศสัมพันธ์ หรือก่อนติดเชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งจะได้ประโยชน์ในการป้องกันสูงที่สุด 

กำหนดการฉีดวัคซีนเอชพีวีขึ้นกับอายุที่เริ่มฉีดวัคซีน ดังนี้

  • ก่อนอายุ 15 ปี (ก่อนวันเกิดครบอายุ 15 ปี) ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน 
  • หลังอายุ 15 ปี ฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 2 และ 6 เดือน 
  • ถ้ามีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 2 และ 6 เดือน โดยไม่คำนึงถึงอายุ
  • กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวี ในเด็กหญิงอายุ 11-12 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน
  • หากเป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ ฉีด 3 เข็มที่ 0, 1 และ 6 เดือน

วัคซีนเอชพีวีมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

  • วัคซีนมีความปลอดภัยสูง ยังไม่พบว่ามีการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโดยตรง 
  • อาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยา
    ซึ่งไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 2-3 วัน  
  • อาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่ ไข้ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งไม่รุนแรงและหายได้เอง 

ข้อแนะนำหลังฉีด

  • ควรสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนแต่ละครั้งเป็นเวลา 15 นาที
  • ควรคุมกำเนิดหลังจากฉีดวัคซีนครบแล้วอย่างน้อย 1 เดือน

Q: ได้รับวัคซีนเอชพีวียังต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไหม ?

A: แม้ได้รับวัคซีนแล้ว เพศหญิงที่ถึงวัยจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรมาเข้ารับการตรวจตามปกติ

ข้อมูลโดย : อ.พญ.ณัฏฐ์กฤตา โพธิพรธวัฒน์ 
ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2566