SLE โรคแพ้ภูมิตัวเอง ความเสี่ยงที่เกิดกับเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์

SLE โรคแพ้ภูมิตัวเอง ความเสี่ยงที่เกิดกับเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์

เอส แอล อี (SLE) หรือ โรคพุ่มพวง เป็นโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน มีการต่อต้านเนื้อเยื่อและเซลล์ ในระบบอวัยวะต่าง ๆ ของตนเอง

  • พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • พบบ่อยในช่วงวัยเจริญพันธุ์ 20 – 50 ปี
  • ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่นแสงแดด, ยา, การติดเชื้อ ฯลฯ

อาการของโรค SLE มีหลากหลายระดับความรุนแรง

  • พบผื่นผิวหนัง แพ้แสงแดด มีแผลในปาก และผมร่วง
  • ปวดข้อ บวม แดง
  • ปัสสาวะเป็นฟอง หรือมีเลือดปน ความดันโลหิตสูง ขาบวม หนังตาบวมหลังตื่นนอน น้ำหนักเพิ่มขึ้น ปัสสาวะออกน้อยลง ไตทำงานลดลง
  • พบภาวะผิดปกติทางสมอง เช่น การเห็นภาพหลอน สับสน ชัก
  • เม็ดเลือดขาวต่ำ มีภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ
  • เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ความดันในเส้นเลือดในปอดสูง

การดูแลตัวเองหากเป็นโรค SLE

  • หลีกเลี่ยงแสงแดด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
  • ยากดภูมิคุ้มกันเป็นส่วนสำคัญในการความควบคุมไม่ให้โรคกำเริบ ผู้ป่วยควรรับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยา ลดยา หรือซื้อยารับประทานเอง
  • เนื่องจากการรับประทานยากดภูมิอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงควรล้างมือเป็นประจำ สวมใส่หน้ากากในที่แออัด รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด
  • พบแพทย์สม่ำเสมอ

โรค SLE เป็นโรคที่ยังไม่พบวิธีรักษาให้หายขาด แต่การปฏิบัติตัวที่ดีของผู้ป่วย และการให้ความร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษา จะสามารถควบคุมมิให้โรคกำเริบและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนคนปกติได้

ข้อมูลโดย อ.พญ.วรรณงาม กิจธนามงคลชัย
ฝ่ายวิจัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ
ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2567