ฝีดาษวานร รู้จัก เข้าใจ ป้องกันได้
โรคฝีดาษวานร (Mpox) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่คล้ายกับโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่ความรุนแรง และการแพร่ระบาดได้น้อยกว่าฝีดาษมาก
Mpox ปัจจุบันที่แพร่กระจายอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก
- Clade 2b พบในแอฟริกา และประเทศไทยมากกว่า 800 ราย สายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง พบในผู้ใหญ่ เพศชาย ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในชายรักชายมากถึง 98%
- Clade 1b ส่วนใหญ่ระบาดในแอฟริกา พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่าจะมีความรุนแรงมากกว่า 2b ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากสายพันธ์ุนี้มักจะเป็นเด็ก
กลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อ Mpox แล้ว จะ อาจทำให้เกิดโรครุนแรงได้ - บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และไม่ได้รับการรักษา
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี
- บุคคลที่มีผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง (Eczema)
- สตรีตั้งครรภ์
ลักษณะอาการของโรค - เมื่อได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัว 5-14 วัน
- เริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว
- หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะมีตุ่มขึ้น ตุ่มส่วนใหญ่จะมีระยะเดียวกันและจะสุกพร้อมกัน มักขึ้นที่อวัยวะเพศ มือ เท้า ลำตัว ตุ่มใสใน Mpox เมื่อสุกแล้ว จะบุ๋มตรงกลาง (Umbilicated lesion)
- จากนั้นตุ่มจะตกสะเก็ด ซึ่งมีเชื้อไวรัสจำนวนมาก สามารถติดต่อได้ อาจใช้เวลาราว 2-4 สัปดาห์ ที่ตุ่มทุกตุ่มจะหายไป และไม่มีสะเก็ดหลงเหลืออยู่
Mpox ยังไม่ได้ติดต่อกันง่ายเช่นโควิด การติดต่อจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด วัคซีนยังไม่จำเป็นในบุคคลธรรมดา ยกเว้นมีความเสี่ยงสูง หรือจะเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา
ข้อมูลโดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูล ณ วันที่ : 25 กันยายน 2567